ไทอาหมเป็นชาวไทกลุ่มหนึ่งที่อพยพข้ามภูเขาปาดไก่ทางเหนือของพม่า จากอาณาจักรไทโบราณอาณาจักรหนึ่ง เรียกว่า "ปง" คือโมกอง (เมืองกอง) ในพม่าทางเหนือ เข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่รัฐอัสสัมประเทศอินเดีย ตั้งแต่พ.ศ. 1796 ภายใต้การนำของเสือก่าฟ้า ปฐมบรมราชวงศ์อาหมอายุของอาณาจักรนี้ก็ถือว่าไล่เลี่ยกับสุโขทัย คือราว 700-800ปี (ข้อมูลวิกิพีเดีย) และมีความเก่งกล้าสามารถขนาดต้านทานการโจมตีของกองทัพโมกุล (ราชวงศ์ที่สร้าง "ทัชมาฮาล") ได้ถึง 18 ครั้ง รบติดพันถึง 150 ปี รัฐอัสสัมจึงถือเป็นดินแดนเดียวในชมพูทวีปที่โมกุลยึดครองไม่ได้
แต่เดิมนั้นชาวไทอาหมถือผีเคารพบูชาบรรพชนยิ่งกว่าชาวไทพวกอื่น และไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา โดยใช้เวลากว่า 200 ปีจึงจะได้รับวัฒนธรรมพราหมณ์ แต่เมื่อชาวไทอาหมสูญเสียสถานะการปกครองจึงกลายสภาพเป็นคนวรรณะจัณฑาล เพราะความขัดแย้งแตกแยกภายในราชสำนักในที่สุดก็ถูกพม่าสมัยราชวงศ์คองบอง (ที่มีพระเจ้าอลองพญาเป็นปฐมกษัตริย์) เข้ายึดครอง ครั้นเมื่อพม่ารบแพ้อังกฤษ รัฐอัสสัมจึงตกเป็นของอังกฤษ ใน พ.ศ. 2369 ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียมาจนถึงวันนี้ จึงทำให้ชาวไทอาหมในหมู่บ้านบอราโจโหกีเริ่มหันไปนับถือพระพุทธศาสนากันมากขึ้น เพื่อลดปัญหาเกี่ยวกับวรรณะ โดยมีนายทนุราม โกกอย เป็นชาวไทอาหมคนแรกที่เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา โดยปฏิบัติศาสนกิจกันที่วัดทิสังปานี ในหมู่บ้านทิสังปานี ของชาวไทคำยัง และเป็นผู้นำชาวพุทธอัสสัม
ทั้งนี้บุคลิกลักษณะของชาวอาหมนั้น ตามพงศาวดารของยุคราชวงศ์โมกุล แห่งอินเดียในยุคนั้น โดยฟาติยะ อิบริยะ ซึ่งติดตามไปกับกองทัพอิสลามซึ่งรบกับอาหม เมื่อ พ.ศ.2200 ได้บรรยายลักษณะของชาวอาหมไว้ว่า
"ชาวอาหมมีรูปร่างล่ำสัน ชอบทะเลาะวิวาท กระหายเลือด ปราศจากความเมตตา ชั่วช้า ทรยศ ในเรื่องความโกหกหลอกลวง ไม่มีใครใต้ดวงอาทิตย์จะสู้พวกอาหมได้ สตรีอาหมมีรูปร่างเล็กแบบบาง ผมยาว ผิวละเอียดอ่อนเกลี้ยงเกลา มือเท้าเล็กเรียว ดูไกลๆสวย แต่ช่วงขาไม่ได้ส่วนสัด ถ้าดูใกล้ยิ่งน่าเกลียด ชาวอาหมโกนศีรษะ โกนหนวดเครา ภาษาที่พูดคือภาษาพื้นเมืองไทใหญ่"
ผู้เขียนตำนานอีกคนหนึ่งนามว่า อาลัมกิรนามะ ก็เขียนไว้ว่า "ชาวอาหมไม่มีศีลธรรม ไม่มีศาสนาประจำชาติ ทำอะไรตามใจตนเองโดยไม่มีกฏเกณฑ์ เห็นว่าการกระทำของตนถูกต้องเสมอ ลักษณะท่าทางของชาวอาหมส่อให้เห็นพลกำลัง และความทรหดอดทน ซ่อนกิริยา และอารมณ์อันโหดร้ายทารุณเอาไว้ข้างใน ชาวอาหมอยู่เหนือชนชาติอื่นๆในด้านกำลังกาย และความทนทาน เป็นชาติขยันขันแข็ง ชอบสงคราม อาฆาตจองเวร ตลบแตลง และหลอกลวง ปราศจากคุณธรรม ความเมตตากรุณา ความเป็นมิตร ความสุภาพ เมล็ดพืชแห่งความอ่อนโยน และมนุษยธรรม ไม่ได้หว่านลงในดินแดนของชนชาตินี้เลย"(จากข้อมูลนี้เหมือนกับบุคลิกลักษณะคนไทยบ้างคนในปัจจุบันนี้)
ทั้งนี้จากข้อมูลเมื่อปี 2551 ได้ระบุว่าที่รัฐอัสสัมมีชาวพุทธราว 55,000คน โดยมากเป็นเผ่าไทอาหม มีวัดราว 100 วัดและพระสงฆ์ราว 150 รูป ภายใต้บุกเบิกการเผยแผ่ของพระนันทพันษา โดยก่อตั้งองค์กรชาวพุทธอัสสัมขึ้น และมีพระเถระที่มีชื่อเสียงในรัฐนี้คือ พระสีลพันษา พระพุทธนันทะ พระศาสนาวังสะพระปรัชญานันทะ พระเทวปริยะ พระราหุล พระสัญชัยนันทะ เป็นต้น
จากข้อมูลข้างต้นคงจะเป็นประโยชน์สำหรับพระธรรมทูตไทในการเผยแผ่ธรรมได้บ้าง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น