สถานการณ์ของมรดกโลกในปัจจุบัน ได้รับการเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ และกำลังได้รับความสนใจจากสาธารณชนในวงกว้างมากขึ้น หลังจากที่มีประเด็นร้อนๆ ติดต่อกันมาหลายครั้งหลายคราว นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้เรื่องราวของมรดกโลก มรดกของเรา เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราทุกคนมากขึ้นด้วย
แม้ว่างานด้านมรดกโลกจะเข้ามามีบทบาท หรือเริ่มต้นครั้งแรกในประเทศไทยมาเป็นเวลามากกว่า ๒๐ แล้วก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยมีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมทั้งสิ้นเพียง ๓ แหล่ง ได้แก่
๑. นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๒. เมืองเก่าสุโขทัยและเมืองที่เกี่ยวเนื่อง อันหมายถึงเมืองศรีสัชนาลัย และเมืองกำแพงเพชร ในจังหวัดสุโขทัย และจังหวัดกำแพงเพชร ตามลำดับ
๓. แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี
ภารกิจของประชาชนไทย นอกเหนือจากการดูแลรักษาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นสมบัติของชาติแล้ว ยังมีหน้าที่ในฐานะรัฐภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองโลก ด้วยการพิทักษ์รักษาคุณค่าความสำคัญระดับสากลของแหล่งมรดกโลกให้ยั่งยืน อันจำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐร่วมกับทุกภาคส่วน
นอกเหนือจากนี้ ยังมีภารกิจอีกประการที่สำคัญของประเทศไทย คือ การนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าความสำคัญระดับสากลสู่ความเป็นมรดกโลกของมนุษยชาติ โดยมีขั้นตอนในการนำเสนอ ๒ ขั้นตอน ได้แก่ ๑) การนำเสนอเข้าสู่บัญชีเบื้องต้นหรือบัญชีชั่วคราว (Tentative List) และ ๒) การจัดทำเอกสารขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก (Nomination Dossier)
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการประกาศรายชื่อในบัญชีเบื้องต้นของมรดกโลก (Tentative List) จำนวน ๒ แหล่ง ได้แก่ ๑) อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี และ ๒) เส้นทางวัฒนธรรมพิมาย ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทพิมาย และศาสนสถานที่เกี่ยวข้อง
ส่วนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) เป็นประธาน ให้กรมศิลปากรดำเนินการประสานและดำเนินการร่วมกับกับภาคส่วนต่างๆ เช่น การศึกษาวิเคราะห์และประเมินคุณค่าความสำคัญของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน การประชุมระดมความคิด จนถึงการจัดทำเอกสารขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของแหล่งมรดกวัฒนธรรม ๑๑ แหล่ง ได้แก่
๑) ภูมิทัศน์วัฒนธรรมแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา
๒) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
๓) วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรวิหาร และเสาชิงช้า
๔) วัดราชนัดดารามราชวรวิหาร และพื้นที่ต่อเนื่อง
๕) พระปฐมเจดีย์
๖) แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์และแหล่งวัฒนธรรม จังหวัดน่าน
๗) แหล่งโบราณคดีเมืองเก่าเชียงแสนและสุวรรณโคมคำ
๘) เส้นทางวัฒนธรรมไชยาถึงเคดาห์
๙) แหล่งวัฒนธรรมล้านนา
๑๐) สถาปัตยกรรมสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
๑๑) วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดพระบรมธาตุ) จังหวัดนครศรีธรรมราช
จากการสัมมนามรดกโลกทางวัฒนธรรม เรื่อง การพัฒนาข้อมูลด้านมรดกทางวัฒนธรรมสู่ความเป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ได้มีการเสนอความเห็นว่า เส้นทางรถไฟสายมรณะ เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าระดับสากล และควรนำเสนอเป็นมรดกโลก สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม จึงได้นำเข้าสู่วาระการประชุมคณะอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน และที่ประชุมให้แนวทางการดำเนินงาน โดยมอบหมายให้กรมศิลปากรประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำเสนอเป็นมรดกโลกเพิ่มขึ้นอีกแหล่งหนึ่ง
ในโอกาสต่อไป สำนักโบราณคดีจะได้เผยแพร่ข้อมูลของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม ที่จะนำเสนอเป็นมรดกโลก แหล่งมรดกโลก แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม การดำเนินงาน และข่าวสารต่างๆ ให้ท่านสมาชิกได้ทราบอย่างต่อเนื่อง
หากท่านมีความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม แหล่งโบราณคดี โบราณสถาน หรือแหล่งมรดกโลก สำนักโบราณคดี มีความยินดีที่จะเป็นสื่อกลาง เพื่อการพิทักษ์รักษามรดกทางวัฒนธรรม และสร้างสรรค์คุณประโยชน์ต่อมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และมรดกโลก
ภัทรวรรณ พงศ์ศิลป์ นักโบราณคดีชำนาญการ
กลุ่มวิชาการโบราณคดี สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร
วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๔
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น