วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554
ถนนสายคุนหมิง–กทม.เสริมค้าส่งออก
เว็บไซต์ซีอาร์ไอทางการของจีนรายงานว่า สำนักงานศุลกากรคุนหมิงเผยเมื่อวันที่ 24 มกราคมว่า ตั้งแต่เปิดทางหลวงสายคุนหมิง – กรุงเทพฯ เป็นต้นมา ด่านศุลกากรโม่ฮัน มณฑลยูนนานมียอดการนำเข้าและส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยยอดการค้าไม้ดอกผลไม้และผักสร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
การขนส่งผักและผลไม้จากภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนผ่านทางหลวงสายคุนหมิง – กรุงเทพฯ ใช้เวลาเพียง 2 วันครึ่งก็สามารถเข้าถึงซุเปอร์มาร์เก๊ตและตลาดสดในกรุงเทพฯ ได้ นอกจากนี้ ขั้นตอนการผ่านด่านที่สะดวกรวดเร็วทำให้การนำเข้าและส่งออกเพิ่มมากขึ้น ปี 2010 ด่านโม่ฮันมีการนำเข้าและส่งออกผักรวม 76,879 ตัน เพิ่มขึ้น 25.9% เมื่อเทียบกับปี 2009 การนำเข้าและส่งออกผลไม้ 56,958 ตัน เพิ่มขึ้น 45.3% ส่วนการนำเข้าและส่งออกไม้ดอก 6,392 ตัน เพิ่มขึ้น 76.2%
ขณะนี้วันที่ 25 มกราคม มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศจีน – อาเซียนเปิดขึ้นที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน นายหยาง เจี๋ยฉือ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีน นายฮอร์นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา นายทองลน สีสุลิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศลาว นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศไทย นายจอร์จ เอี๋ยว รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ ตลอดจนรัฐมนตรีต่างประเทศหรือเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของ 10 ประเทศอาเซียนได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้
นายหยาง เจี๋ยฉือกล่าวในพิธีเปิดประชุมว่า จีนกับอาเซียนสร้างความสัมพันธ์ประเทศคู่เจรจาครบรอบ 20 ปีในปีนี้ ความสัมพันธ์สองฝ่ายกำลังอยู่ในช่วงสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สืบทอดอดีตและก้าวสู่ระดับที่สูงยิ่งขึ้น จีนปรารถนาที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประเทศอาเซียนเกี่ยวกับความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ การครบรอบ 20 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ประเทศคู่เจรจา การติดต่อเชื่อมโยง เขตการค้าเสรีจีน – อาเซียน ความร่วมมือทางวัฒนธรรม ปัญหาความมั่นคงที่เกิดใหม่ และความร่วมมือของเอเชียตะวันออก
เนื่องในโอกาสเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนเปิดตัวอย่างเป็นทางการครบรอบ 1 ปี เมื่อวันที่ 1 มกราคม2554 ซึ่งจากข้อมูลปรากฏว่า ยอดมูลค่าการค้าแบบทวิภาคีระหว่างจีนกับไทยในปี 2553 ได้แซงหน้าญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ทำให้จีนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย
วันนี้ สถานีวิทยุซีอาร์ไอได้เชิญคุณวิชิต ชิตวิมาน กงสุลใหญ่ประจำเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนานมาพูดคุยกับเราเกี่ยวกับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน ตลอดจนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับอาเซี่ยน
คำถาม
ถาม --เขตการค้าเสรีจีน – อาเซียนได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2553 ถึงวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ครบ 1 ปี พอดี ตัวท่านเองมีทัศนะคติต่อการเปิดการค้าเสรีฯ และมองอนาคตของเขตการค้าเสรีฯอย่างไร
ตอบ-- การเปิดเขตการค้าเสรีจีน - อาเซียนโดยทั่วไปแล้ว ทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก เพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อจะลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้เกิดการค้าเสรีระหว่างกัน และปัจจุบันประเทศต่างๆ ก็ได้ขยายขอบเขตของ FTA ให้ครอบคลุมการค้าด้านบริการ อาทิ บริการท่องเที่ยว การรักษาพยาบาล การสื่อสาร การขนส่ง ฯลฯ พร้อมกับความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วย
ผมเห็นว่า ผลดีของการทำเขตการค้าเสรี คือ การเกิดความมีประสิทธิภาพ และหลักการได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) การแบ่งงานกันทำ (Division of Labor) และการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) การผลิตจำนวนมากจะทำให้ต้นทุนถูกลง ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคสินค้าที่ดี และมีคุณภาพ ทั้งนี้ เขตการค้าเสรีฯ ทำให้มีตลาดที่กว้างขึ้น การส่งออกจะง่ายและสะดวกมากขึ้น การค้าระหว่างกันจะเพิ่มมากขึ้น การเจรจาเพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้าต่างๆ นอกเหนือจากเรื่องภาษีจะมีมากขึ้น และง่ายในการเจรจาระหว่างคู่สัญญา นอกจากนั้น จะมีการกระจายแหล่งวัตถุดิบมากขึ้น ทำให้สามารถนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้อยู่ในราคาที่ถูกลงและต้นทุนการผลิตต่ำลงด้วย มีผลกระตุ้นให้มีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ของเขตการค้าเสรีมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น
การจัดทำเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนฯ ในลักษณะพหุภาคี ทำให้ประเทศสมาชิกมีอำนาจในการต่อรอง และอำนาจการเจรจาระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นกว่าลักษณะทวิภาคี เเละยังลด การพึ่งพากลุ่มการรวมตัวหรือตลาดหลักอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ทั้งนี้ การเปิดเขตการค้าเสรีฯ ยังส่งผลทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ คือ การสร้างความใกล้ชิดระหว่างประเทศ หรือระหว่างประเทศกับกลุ่มประเทศในภูมิภาค จีนก็จะมีอิทธิผลทางการเมืองระหว่างประเทศในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น
เห็นได้ว่า เขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน เป็นเขตการค้าเสรีที่มีตลาดใหญ่ที่สุด เเละมีประชากรกว่า 1,900 ล้านคน (สองเท่าของประชากรสหรัฐ) และจะสามารถถ่วงดุลทางการค้ากับ การรวมตลาดเดียวของสหภาพยุโรปและเขตการค้าเสรีนาฟตาในอเมริกาเหนือ
อย่างไรก็ตาม ไทยก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ในตลาดจีนซึ่งประเทศอาเซียนอื่นๆ ก็จะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีภาคการค้าสินค้าและบริการภายใต้เขตการค้าเสรีฯ เช่นเดียวกับไทย รวมทั้งการเผชิญกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มสูงมากขึ้นในประเทศจากการที่ไทยต้องเปิดตลาดสินค้าและภาคบริการให้จีนภายใต้ความตกลง FTA เช่นกัน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า อัญมณี/เครื่องประดับ
ทั้งนี้ การเตรียมพร้อมของทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อรองรับการทำการเปิดเขตการค้าเสรีฯ จะเกิดขึ้นสูงสุดเมื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือและเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นพร้อมกัน เช่น การเตรียมความพร้อมของภาครัฐ การปรับปรุงโครงสร้างศุลการกร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการค้า โดยเฉพาะทางด้านการขนส่งทั้งทางบกทางเรือ และทางอากาศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในส่วนของภาคเอกชนนั้น จำเป็นจะต้องมีการปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้สามารถแข่งขัน และใช้สิทธิประโยชน์จากการทำเขตการค้าเสรีฯ ได้อย่างเต็มที่ประสิทธิภาพในการผลิต การจัดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยี พัฒนาบุคลากร แปรรูปและคุณภาพสินค้า พัฒนาและขยายตลาดเชิงรุก ฯลฯ
ในส่วนของมณฑลยูนนานนั้น การเปิดเขตการค้าเสรีฯ จะทำให้มณฑลยูนนานสามารถพัฒนา ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศในอาเซียนได้อย่างเต็มที่ เพราะนอกจากมณฑล ยูนนานจะมีความได้เปรียบในฐานะประตูสู่ GMS ของจีนมาตั้งแต่ปี 1992 และมีพรมแดนติดต่อกับประเทศอาเซียนถึง 3 ประเทศ คือ เวียดนาม ลาว และพม่าแล้ว รัฐบาลมณฑลยูนนานยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเส้นทางคมนาคมไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียนอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ซึ่งปัจจุบันไทยและมณฑลยูนนานสามารถเชื่อมต่อกันได้ทั้งทางบก ทางแม่น้ำและทางอากาศ ทั้งนี้ ผมจึงหวังว่า การเปิดการค้าเสรีระหว่างอาเซียนและจีน รวมทั้งความพยายามของรัฐบาลไทยและรัฐบาลยูนนาน ในการผลักดันการค้าและการลงทุนระหว่างกัน จะทำให้มูลค่าการค้าระหว่างของประเทศไทยเเละมณฑลยูนนานสูงขึ้นกว่าเดิม
ตัวเลขการค้าหลังจากที่ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีนมีผลบังคับใช้สมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2553 มูลค่าการค้าระหว่างมณฑลยูนนานกับไทยได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่า 311.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 87.7 ซึ่งแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกไปไทยจำนวน 224.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 56 และมูลค่าการนำเข้าจากไทยจำนวน 87.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 291.6
นอกจากนี้ ในส่วนของการค้าระหว่างอาเซียนและจีน ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2553 การนำเข้าจากอาเซียนของจีนมีมูลค่าประมาณ 9 หมื่น 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้อาเซียนกลายเป็นตลาดนำเข้าอันดับ 3 ของจีน นอกจากนี้ ใน 8 เดือนแรกของปี 2553 มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างจีนและอาเซียนมีทั้งสิ้น 185,380 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 47.2 ในจำนวนนี้ การนำเข้าจากอาเซียนของจีนมีมูลค่าทั้งสิน 97,307 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.4 และการส่งออกไปตลาดอาเซียนของจีนมีมูลค่าทั้งสิน 88,072 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40
ผมขอเรียนว่า หลังจากเขตการค้าเสรีจีน- อาเซียนได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2553 ปัจจุบันจีนกับสมาชิกอาเซียนดั้งเดิม 6 ประเทศ มีสินค้าจำนวนมากกว่าร้อยละ 90 ได้รับสิทธิภาษี 0% ทั้งนี้ อัตราภาษีที่จีนมีต่อต่างประเทศเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 9.8 แต่อัตราภาษีที่จีนมีต่อกลุ่มประเทศอาเซียนเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 0.1 เท่านั้น โดยเมื่อถึงปี 2558 จีนกับสมาชิกอาเซียนใหม่ 4 ประเทศ (เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า) ก็จะมีสินค้าจำนวนร้อยละ 90 ได้รับสิทธิภาษี 0% เช่นกัน ดังนั้น การค้าชายเเดนระหว่างมณฑยูนนานกับประเทศเพื่อนบ้านก็จะมีโอกาสเติบโตขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกมาก
ถาม -- ที่ทราบกันดีว่า ไทยมีความเหนือกว่าด้านเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าว ผลไม้ การเลี้ยงสัตว์น้ำ และการแปรรูปอาหาร รวมทั้งการท่องเที่ยว และการให้บริการ ท่านมองว่า การเปิดเขตการค้าเสรีฯ ได้ส่งผลต่อธุรกิจดังกล่าวอย่างไร
ตอบ-- ในส่วนของสินค้าเกษตร เเละบริการที่ไทยมีความได้เปรียบ ก็จะสามารถเข้าไปในตลาดที่กว้างใหญ่ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเร่งพัฒนาความสามารถในเชิงการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีกเพราะสินค้าในรายการบางประเภทอาจไม่ได้รับการปกป้องในรูปเเบบอื่นๆ จากประเทศสมาชิก โดยเฉพาะสินค้าบางรายการที่มีความอ่อนไหว ทั้งนี้ ไทยต้องยกระดับการผลิตสินค้าให้เป็นสินค้าระดับบน มีมูลค่าเพิ่มสูง คือแข่งขันด้วยคุณภาพ
ในส่วนของผักและผลไม้เป็นสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบด้านบวกและลบจากการเปิดเขตการค้าเสรีฯ โดยเฉพาะไทย-จีน เพราะจีนมีความได้เปรียบในการผลิตผักผลไม้กว่าไทยมาก และยังเป็นผู้ส่งออกผักและผลไม้รายใหญ่ในอันดับต้นๆ ของโลก
ในด้านการบริการนั้น การเปิดการค้าเสรีฯ จะทำให้ไทยและประเทศอาเซียนอื่นๆ มีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดจีนดีขึ้น และเพิ่มโอกาสขยายธุรกิจไปยังประเทศจีน โดยคาดว่า ธุรกิจภาคบริการของไทยที่มีศักยภาพน่าจะได้รับประโยชน์ภายใต้ความข้อตกลงฯ คือ ภาคการค้าบริการได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ธุรกิจสปา ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจโลจิสติกส์และธุรกิจด้านการศึกษา เป็นต้น การเข้าสู่ตลาดภาคบริการในจีนได้มากขึ้นในสาขาต่าง ๆ ทำให้ธุรกิจบริการไทยได้รับผลดีจากการเติบโตของภาคการบริโภคภายในจีนทีอยู่ในระดับดี
สินค้าส่งออกของไทยที่ได้อานิสงส์จากการลดภาษีของจีนเป็นร้อยละ 0 ในวันที่ 1 มกราคม2553 และการเจริญเติบโตของการต้องการภายในของจีนในปี 2553 และในระยะยาว ได้แก่สินค้าอาหาร เครื่องดื่มเช่น น้ำผลไม้ ผลไม้กระป๋อง ไวน์ ไอศกรีม ของใช้ เช่น กระเป๋า เครื่องหนัง เสื้อผ้า สิ่งทอ อัญมณี /เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอางและน้ำหอม ส่วนธุรกิจภาคบริการของไทยที่มีแนวโน้มจะขยายการลงทุนในจีนได้สะดวก มากขึ้นจากการเปิดตลาด ภาคบริการในรอบที่ 2 ที่คลอบคลุมกิจกรรมสาขาบริการที่กว้างขึ้น และโอกาสของธุรกิจบริการไทยในจีนที่น่าจะมีศักยภาพ ได้แก่ โรงแรม ธุรกิจสปา ขณะเดียวกัน แนวโน้นธุรกิจที่จีนจะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นในภาคบริการ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ภาคธนาคาร โรงแรม ศูนย์บริการด้านสุขภาพ ธุรกิจสปา ส่วนภาค การผลิต ได้แก่ เกษตรแปรรูป/อาหาร เครื่องดื่ม ยานยนต์พลังงานทางเลือก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์ยาง
ถาม -- ท่านมองภาพรวมการไปมาหาสู่กัน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าและ การลงทุนระหว่างไทยกับมณฑลยูนนานอย่างไร เห็นว่ามีส่วนที่ยังเป็นปัญหาและอุปสรรคอย่างบ้างไหม ควรแก้ไขอย่าง
ตอบ--ผมมีความเห็นว่า ภาพรวมด้านการไปมาหาสู่กัน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าและ การลงทุนระหว่างไทยกับมณฑลยูนนานนั้น กำลังพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง โดยจากความสำคัญของเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมมณฑลยูนนานกับไทย และการเป็นสมาชิก GMS ทำให้มณฑล ยูนนานมีบทบาทสำคัญต่อไทย โดยในทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นักธุรกิจไทยได้ใช้โอกาสจากการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมและ FTA อาเซียน-จีน เข้ามาลงทุน และบุกตลาดมณฑลแถบตะวันตกของจีนจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผมมีความเห็นว่า รัฐบาลไทยและมณฑลยูนนานจะต้องมุ่งมั่นพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เน้นการใช้ประโยชน์จากเส้นทาง Kunming-Bangkok Highway และ R3A ในลาว และการเปิดเสรีทางการค้าอาเซียน-จีน เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เน้นการเร่งรัดให้เปิดการเชื่อมโยงระหว่างตอนเหนือของไทยและยูนนานเป็นรูปธรรมให้รวดเร็วทั้งในด้านการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้า ทั้งทางน้ำ บกและอากาศ รวมถึงการอำนวยความสะดวกและการขนส่งบริเวณแถบชายแดน ความร่วมมือทางด้านโลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว ซึ่งรวมถึงการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและบริการ พลังงานไฟฟ้า และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
ในส่วนของปัญหาและอุปสรรคในปัจจบันเป็นปัญหาทางเทคนิค เช่น ปัญหาการค้าอาทิ-
1) ในปัจจุบัน มณฑลยูนนานไม่มีโควต้านำเข้าข้าวจากไทยโดยตรง จึงต้องนำเข้าข้าวไทยจากมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้ ยูนนานอาจพิจารณายื่นของโควต้าข้าวจากปักกิ่ง
2) การตรวจสอบสุขอนามัยที่ชายแดนใช้เวลานานในการพิจารณาเอกสารฉลากสินค้าประเภทอาหารจากไทยที่นำเข้ามณฑลยูนนานประมาณ 6 เดือน จึงอาจพิจารณาให้สินค้าประเภทเดียวกันมีการพิจารณาเพียงครั้งเดียว เเทนที่จะต้องมีการพิจารณาทุกครั้งที่มีการนำเข้า
3) ทั้งสองฝ่ายควรหาทางส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพฯ จากไทย เพิ่มมากขึ้น สองฝ่ายอาจพิจารณารูปแบบในลักษณะเดียวกับโครงการผักสดจีนแลกน้ำมันไทย และโครงการดอกไม้สดยูนนานแลกผลไม้ไทย ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์จากการขนส่งบนเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพฯ และช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทยและมณฑลยูนนานได้ดี
4) การส่งเสริมการค้าผลไม้ระหว่างไทยและยูนนาน โดยสนับสนุนการจัดตั้งตลาดศูนย์กลางค้าผลไม้ ซึ่งลงทุนโดยฝ่ายไทยที่ยูนนาน รวมทั้งการแก้ปัญหาสิ่งปลอมปนในสินค้าเกษตรจากการส่งสินค้าผ่านประเทศที่ 3 มายังจีน
5) การขาดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเทศจีน เช่น ความเข้าใจในระเบียบการค้าการลงทุนของแต่ละมณฑล ทั้งระดับภาพรวมและระดับท้องถิ่น ซึ่งมีความเเตกต่างกันเเละต้องศึกษาว่า เเต่ละมณฑลมีศักยภาพด้านใดเเละผู้ที่จะเข้าไปลงทุนถนัดด้านใด นอกจากนี้ ไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้เรื่องจีนอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญภาษาและจีนศึกษา
ถาม --ช่วงที่ผ่านมา ไทยกับยูนนานได้ดำเนินความร่วมมือในหลายๆด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและการศึกษา โดยเฉพาะ ปีที่ผ่านมา ไทยกับยูนนานได้ดำเนินโครงการหลายอย่าง เช่น การเปิดตัวอขงศูนย์จำหน่ายสินค้าไทยในหลัวซืออวน โครงการดอกไม้ยูนนานแลกผลไม้ไทย ต่อจากโครงการผักสดยูนนานแลกน้ำมันไทยแล้ว การลงมือสร้างโครงการโรงพยาบาลมิตรภาพไทย-จีน ฯลฯ ท่านมองว่าไทยกับมณฑลยูนนานยังมีศักยภาพความร่วมมือด้านไหนอีกบ้าง
ตอบ-- ผมเห็นว่าไทยและมณฑลยูนนานสามารถขยายความร่วมมือในสาขาที่ยูนนานมีศักยภาพ เเละความร่วมมือเป็นประโยชน์ต่อผลประโยชน์ร่วมกันของ 2 ฝ่าย ได้ดังนี้
1) ด้านสาธารณสุข รัฐบาลจีนได้อนุมัติให้มณฑลยูนนานดำเนินโครงการทดลองใช้สมุนไพรจีนรักษาโรคเอดส์ โดยได้ใช้เวลากว่า 3 ปีในการวิจัยค้นคว้า และทดลอง และได้ผลลัพธ์ค่อนข้างดี โดยได้เริ่มให้การรักษาแก่ กลุ่มตัวอย่างผู้ติดเชื้อเอดส์จำนวน 1,131 คน ใน 8 เขตพื้นที่ของมณฑลยูนนาน โดยทดลองใช้สมุนไพรจีนชนิดใหม่ที่ผลิตขึ้นโดยศูนย์วิจัยพัฒนาสมุนไพรจีนที่ตั้งอยู่ในนครคุนหมิงในการรักษาพยาบาล ขณะนี้ ประเทศไทยก็มีชื่อเสียงเเละประสบการณ์ในการป้องกัน
2) ด้านชาติพันธุ์ เนื่องจากมณฑลยูนนานเป็นมณฑลที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมมาก โดยมีชนเผ่าพื้นเมืองหลากหลายชนเผ่า และบางชนเผ่า อาทิ ไทลื้อ มีวัฒนธรรมใกล้เคียงภาคเหนือของไทย จึงเป็นแหล่งวัตถุดิบที่ดีสำหรับการศึกษาค้นคว้าวิจัยทางด้านมานุษยวิทยา
3 ) การพัฒนาพลังงานทางเลือก โดยมณฑลยูนนานให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานทางเลือก เเละได้สนใจนำสบู่ดำมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไบโอดีเซล และโดยที่มณฑลยูนนานมีสภาพภูมิอากาศเหมาะสมสำหรับการปลูกสบู่ดำ จึงเป็นแหล่งเพาะปลูกสบู่ดำ และเป็นแหล่งสกัดไบโอดีเซลที่สำคัญที่สุดในจีน
4 ) การส่งเสริมความร่วมมือด้านธุรกิจบันเทิง มณฑลยูนนานมีความใกล้ชิดกับไทยทั้งในทางภูมิศาสตร์ และวัตนธรรม ชาวจีนในยูนนานจึงรู้สึกใกล้ชิดกับไทย และรู้จักละครโทรทัศน์ของไทย ทั้งนี้ กรมประชาสัมพันธ์ได้มี MOU กับ สำนักงานกระจายเสียงและโทรทัศน์ยูนนาน เมื่อปี 2549 เพื่อแลกเปลี่ยนนักข่าว รายการวิทยุและโทรทัศน์ด้วยซึ่งอาจมีการจับมือแลกเปลี่ยนรายการทีวี ทั้งเนื้อหา สาระ และบันเทิงเพื่อให้ประชาชนได้รู้จักและเข้าใจในวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีมากขึ้น
5) ความร่วมมือด้านการศึกษา สองฝ่ายอาจพิจารณขยายความร่วมมือด้านการศึกษา เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องฝ่ายไทยอาจพิจารณาให้การสนับสนุนโครงการความร่วมมือเพื่อส่งเสริมให้อาจารย์ชาวไทยมาสอนภาษาไทย วัฒนธรรมไทย ควบคู่ไปกับความเป็นอยู่ในสังคมไทย และความเป็นไทยในด้านต่าง ๆ พร้อมทั้ง สนับสนุนทุนศึกษา/ฝึกอบรมแก่อาจารย์ชาวจีนเพื่อไปศึกษาต่อ/เข้ารับการอบรมเพิ่มเติมด้านภาษาไทย และวัฒนธรรมไทยในทุกมิติ นอกจากนี้ ฝ่ายอาจพิจารณาสนับสนุนการมอบหนังสือ วัสดุ โสตทัศนูปกรณ์ และสื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับประเทศไทย ให้แก่สถาบันการศึกษาในมณฑลยูนนานที่ทำการสอนภาษาไทย และไทยศึกษา ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ไทยศึกษา และ Thai Corner ตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
ถาม --ท่านกงสุลใหญ่ได้ใช้ชีวิตอยู่เมืองคุนหมิงเกือบ 1 ปี แล้ว มีความประทับใจอะไร ต่อเมืองนี้
ตอบ-- ผมมองเป็นเหรียญ 2 ด้าน ซึ่งผมประทับใจนครคุนหมิงมีครบทั้ง 2 ด้าน นโยบายพัฒนาภาคตะวันตกของจีนทำให้คุนหมิงปรับเปลี่ยนจากการเน้นการขายทรัพยากร เป็นการดึงดูดการลงทุน เพื่อพัฒนาด้านอุตสาหกรรมแปรรูป และพัฒนาทรัพยากรขั้นพื้นฐาน ตามมาด้วยการพัฒนาด้านเงินทุนและบุคลากร นโยบายของประธานธิบดีหูจิ่นเทา ซึ่งเดินทางเยือนยูนนานเมื่อปี 2009 ในการพัฒนาให้ยูนนานเป็นหัวสะพานสำหรับการเปิดประเทศจีน ทำให้นครคุนหมิงเร่าผลักดันด้านโลจิสติกส์ การตลาด อุตสาหกรรม การสร้างความเป็นเมือง ฯลฯ ซึ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาคุนหมิงแบบก้าวหน้ากระโดดดังกล่าวทำให้ภายใน 5-10 ปี ข้างหน้า คุนหมิงจะมีการเติบโตของ GDP ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 และกลายเป็นเมืองที่ทันสมัยและชาวคุนหมิงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ผมเห็นว่า คุนหมิงมีความโดดเด่น 5 ประการ คือ 1) มีความสามารถในการแข่งขันสูง 2) ประชากรมีอัตราการเดินทางออกต่างมณฑลและต่างประเทศสูง 3) มีแผนการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งที่ทันสมัยและโดดเด่นทั้งทางรถไฟ และทางสนามบิน การเป็นช่องทางขนส่งพลังงานนานาชาติ (การก่อสร้างท่อก๊าซธรรมชาติไปยังมหาสมุทรอินเดียเชื่อมต่อกับอ่าวทางเหนือของจีน) เช่นเดียวกับอุรุมุฉี ฮารบิน และเซี่ยงไฮ้ 4) เป็นประตูไปสู่เอเชีย ยุโรป และแอฟริกาเหนือและตะวันออก ซึ่งมีชาวจีนโพ้นทะเลถึงร้อยละ 70 ของชาวจีนโพ้นทะเล โดยในปี 2014 การค้าระหว่างจีนกับประเทศในยุโรปเเละเเอฟริกาหนือเเละตะวันออกจะสามารถดำเนินการผ่านคุนหมิงเข้าไปทางมหาสมุทรอินเดีย 5) สภาพแวดล้อมทั้งทางอากาศ น้ำ ดิน และสิ่งแวดล้อมที่ อุดมสมบูรณ์
ซึ่งเห็นได้ว่า จะมองเห็นการเติบโตเป็นเมืองขนาดใหญ่ของคุนหมิงได้ชัดเจน เเต่คุนหมิงก็ยังสามารถรักษาสภาพเเวดล้อม คุณภาพอากาศ น้ำ ควบคู่กันไปอย่างสมดุลในปัจจุบัน ในอนาคต ผมอยากให้รักษาความสมดุลต่อไปควบคู่กับการเป็นเมืองใหญ่ ของคุนหมิงในอนาคต เช่น การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่ความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของคนส่วนรวม การสร้าง สนามกีฬา สวนสาธารณะ ที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ท่องเที่ยวให้มีความสะดวก สบาย เเละ ความสะอาด เป็นต้น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น