โครงการเหมืองถ่านหินใหญ่สุดของพม่ากำลังก่อมลพิษต่อชุมชนใกล้ทะเลสาบอินเล ในรัฐฉาน อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศอย่างมหาศาล.....
เว็บไซต์Khonkhurtai รายงานว่า วันนี้ (20 ม.ค.) องค์กรเยาวชนชาวปะโอ (Pa-Oh Youth Organization - PYO) ได้ออกแถลงการณ์และเปิดตัวหนังสือรายงาน ชื่อ "หมอกพิษ (Poison Clouds)" ซึ่งเปิดเผยถึงข้อมูลและผลกระทบของโครงการเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าพลังงาน ถ่านหินใหญ่สุดของพม่า ตั้งอยู่ใกล้กับทะเลสาบอินเล หรือ หนองฮายหญ้า ตามคำเรียกของไทใหญ่ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน
ทั้งนี้ แถลงการณ์ระบุว่า โครงการดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านจิต ห่างจากทะเลสาบอินเล สถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของสหภาพพม่า 13 ไมล์ กำลังก่อให้เกิดมลพิษต่อแหล่งน้ำ เป็นอันตรายต่อสุขภาพของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านที่นั่นจำนวนมากต้องย้ายออกจากพื้นที่และไปหาที่อยู่ใหม่
ขณะที่ข้อมูลหนังสือรายงาน "หมอกพิษ" (Poison Clouds) ของนักวิจัยชาวปะโอในพื้นที่ แสดงให้เห็นว่า ในแต่ละวันที่เหมืองดังกล่าว มีการขุดถ่านหินลิกไนต์มากถึง 2,000 ตัน เป็นถ่านหินที่ก่อมลพิษมากสุด เนื่องจากมีการนำถ่านหินไปเผาผลาญในโรงไฟฟ้าที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้เกิดเถ้าปลิวพิษ 100-150 ตันต่อวัน
นอกจากนี้ กองกากของเสียจากเหมืองมีความสูงกว่าบ้านเรือนของประชาชน ทั้งยังปิดกั้นทางน้ำไหลและทำให้เรือกสวนไร่นาปนเปื้อนด้วยมลพิษ การแพร่กระจายของฝุ่นและก๊าซรวมทั้งที่เป็นพิษเกิดขึ้นทั่วไปตามท้องถนนในพื้นที่ ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่ประสบโรคผื่นคันตามผิวหนัง
ขุนชางเค สมาชิกองค์กรเยาวชนชาวปะโอ (Pa-Oh Youth Organization - PYO) กล่าวในแถลงการณ์ว่า ท้องฟ้าและสายน้ำที่นั่นกำลังกลายเป็นสีดำ และลูกหลานชาวบ้านที่นั่นก็กำลังเติบโตในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยมลพิษ พร้อมกับระบุว่า ประชาชนเกือบ 12,000 คน ที่อาศัยอยู่ในรัศมีห้าไมล์จากโครงการ มีความเป็นไปได้ที่พวกเขาอาจจะต้องโยกย้าย เหตุเพราะไม่สามารถทนต่อมลพิษและการขยายโครงการเหมืองได้ โดยชาวบ้านจากบ้านไหลค่าและตองโพลาซึ่งอยู่ใกล้เคียง ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทางการบังคับให้โยกย้ายออกไปแล้ว โดยทางการได้เวนคืนที่ดินทำกินกว่า 500 เอเคอร์
ขณะที่ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าตีจิต ถูกนำไปใช้กับโครงการเหมืองที่เป็นของบริษัทจากรัสเซียและอิตาลี เป็นลักษณะการพัฒนาภาคพลังงานของพม่าที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่เพื่อการพัฒนาของประชาชน แต่เพื่อขายให้กับผู้เสนอราคาสูงสุด
ทั้งนี้ ขุนชางเค ได้เผยอีกว่า รัฐบาลทหารพม่ากำลังใช้ทรัพยากรพลังงานเพื่อผลกำไรของตนเอง ปล่อยให้ประชาชนต้องเผชิญกับมลพิษและความแตกสลายของชุมชน พร้อมกล่าวว่า รัฐบาลทหารพม่าควรยุติโครงการนี้ และให้มีการประเมินผลกระทบอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะผลกระทบต่อทะเลสาบอินเล
สำหรับแม่น้ำตีจิต เป็นแม่น้ำไหลรวมเข้ากับแม่น้ำบาลู และไหลลงสู่ทะเลสาบอินเล ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดใหญ่เป็นอันดับสองของพม่า ถือเป็นแหล่งมรดกของอาเซียน ซึ่งทะเลสาบแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งของพม่า คนทั่วไปจะรู้จักทะเลสาบจากลักษณะการพายเรือของชาวประมงอินทา ซึ่งผูกขาข้างหนึ่งกับกรรเชียงเรือ
นอกจากนี้ ข้อมูลรายงานจากองค์กรเยาวชนปะโอ PYO ระบุด้วยว่า ขณะนี้กำลังมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินอีกสามแห่ง และมีแผนจะสร้างเพิ่มเติมอีกสี่แห่งในพม่า รวมทั้งโรงไฟฟ้าขนาด 4,000 เมกะวัตต์ที่เมืองทวาย ซึ่งเป็นเมืองท่าทางภาคใต้ของสหภาพพม่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น