เอแบคโพลเผยผลสำรวจเยาวชน 65.4% ไม่รู้ว่าวันไหนเป็นวันมาฆบูชา ส่วนหลักธรรมสำคัญ โอวาทปาฏิโมกข์ มีคนรู้จักแค่ 27.7% แต่เยาวชนส่วนใหญ่ ยังให้ความสำคัญกับการทำบุญในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ด้าน "ค้าภายใน" ออกสุ่มตรวจชุดสังฆทาน ป้องกันฉวยโอกาสขึ้นราคา และใช้สินค้าไม่ได้มาตรฐาน
(16ก.พ.) นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความรู้ ความเข้าใจของเด็ก-เยาวชนไทยเกี่ยวกับวันมาฆบูชา และความตั้งใจที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ในวันมาฆบูชา กรณีศึกษาตัวอย่างเยาวชนอายุ 12-24 ปีที่พักอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,325 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ 2554 โดยผลการสำรวจ พบว่ามีเพียงร้อยละ 34.6 ทราบและระบุได้ถูกต้อง ว่าวันมาฆบูชาตรงกับวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ขณะที่เยาวชนร้อยละ 65.4 ไม่ทราบว่าเป็นวันไหน
สำหรับผลสำรวจเมื่อสอบถามการรับรู้ในหลักธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในวันมาฆบูชานั้น พบว่ามีตัวอย่างเพียง ร้อยละ 37.3 เท่านั้นที่สามารถระบุได้อย่างถูกต้องว่าคือ “โอวาทปาฏิโมกข์” ในขณะที่ตัวอย่างประมาณ 2 ใน 3 คือร้อยละ 62.7 ไม่ทราบ/ระบุไม่ถูกต้อง ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ เมื่อได้สอบถามต่อไปว่าหลักธรรมโอวาทปาฏิโมกข์ หมายถึงอะไรนั้นพบว่า มีอยู่เพียงร้อยละ 27.7 เท่านั้นที่สามารถสรุปใจความสำคัญของหลักธรรมดังกล่าวได้อย่างถูกต้องว่าหมายถึง “การทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์” นอกจากนั้นคือร้อยละ 12.9 ระบุความหมายของโอวาทปาติโมกข์ในแบบอื่นๆ อาทิ หมายถึง การเดินทางสายกลาง การดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ในขณะที่ร้อยละ 51.0 ระบุถูกทุกข้อที่กล่าวมา และร้อยละ 8.4 ระบุไม่ทราบว่าหมายถึงอะไร
สำหรับกิจกรรมที่จะทำในวันมาฆบูชาที่จะมาถึงนี้ พบว่า ร้อยละ 72.2 ระบุจะทำบุญตักบาตร ร้อยละ 50.9 ระบุร่วมพิธีเวียนเทียน ร้อยละ 42.0 ระบุใช้เวลาอยู่กับครอบครัว และรอง ๆ ลงมา คือ ถวายสังฆทาน ทำความสะอาดบ้านเรือน ปล่อยนก ปล่อยปลา บริจาค ทำทานสงเคราะห์ผู้อื่น เข้าวัดฟังธรรม นั่งสมาธิ เจริญภาวนา และช่วยงานชุมชน/สาธารณะ เป็นต้น ส่วนพฤติกรรมที่เยาวชนไทยตั้งใจจะลด ละ เลิกในวันมาฆบูชาที่จะมาถึงนี้ ได้แก่ เลิกนิสัยการพูดไม่ดี เช่น พูดปด โกหก นินทาว่าร้าย พูดส่อเสียด ไร้สาระ เป็นต้น ลดการดื่มเหล้า เลิกสูบบุหรี่ เลิกเล่นการพนัน/อบายมุข เลิกลักเล็กขโมยน้อย เลิกขี้เกียจ เลิกใช้ยาเสพติด เลิกทำสิ่งผิดกฎหมาย เลิกทะเลาะวิวาทกับคนอื่น/ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เป็นต้น
ที่น่าพิจารณา คือ สิ่งที่เยาวชนไทยต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อส่งเสริมงานด้านพระพุทธศาสนา พบว่า ร้อยละ 65.7 ระบุจัดให้มีงานนิทรรศการ/กิจกรรมทางศาสนาในวันสำคัญเป็นประจำ ร้อยละ 32.9 ระบุรณรงค์ให้กลุ่มเยาวชนหันมาสนใจ และเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาให้มากขึ้น อาทิ ทำบุญตักบาตร สวดมนต์ ถือศีล 5 เป็นต้น ร้อยละ 15.5 ระบุจัดสรรงบประมาณในการบำรุงรักษา ศาสนสถานต่างๆ ร้อยละ 1.5 ดูแลพระภิกษุ/สามเณรไม่ให้ทำผิดศีลธรรม และร้อยละ 1.4 ระบุอื่น ๆ อาทิ การรักษาความปลอดภัยภายในวัด/ให้จัดกิจกรรมในวัดให้มากขึ้น เป็นต้น
กลุ่มเด็กและเยาวชนไทยที่ให้ความสำคัญกับวันมาฆบูชามากกว่าวันวาเลนไทน์ มีจำนวนมากกว่า กลุ่มเด็กที่ให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์มากกว่าวันมาฆบูชา คือ ร้อยละ 43.2 ต่อร้อยละ 6.4 อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 27.3 ให้ความสำคัญเท่ากันทั้ง 2 วัน และร้อยละ 23.1 ไม่มีความเห็น
นายนพดล กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการสำรวจครั้งนี้ พบว่า ความรู้ความเข้าใจและการให้ความสำคัญของเด็กและเยาวชนต่อวันมาฆบูชาอยู่ในเกณฑ์น้อย และเมื่อพิจารณาด้านการประพฤติปฏิบัติตนทางศาสนาแล้วพบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วงเพราะเด็กมีความตั้งใจน้อยมากในเรื่องการเข้าวัดฟังเทศน์ ฟังธรรม และการนั่งสมาธิเจริญภาวนา
นอกจากนี้ เด็กบางส่วนตั้งใจจะ ลด ละ เลิก สิ่งที่ไม่ดีไม่งามในวันมาฆบูชา แต่ก็มีโอกาสสูงที่จะกลับไปทำผิดซ้ำอีก เพราะสภาพแวดล้อมชุมชน สถานศึกษา สื่อมวลชน การโฆษณา กลุ่มเพื่อน ความเคยชิน และครอบครัว เป็นปัจจัยชี้ชวนนำที่มีอิทธิพลสูงต่อการตัดสินใจของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลชุดปัจจุบันและผู้ใหญ่ในสังคมให้ความสำคัญกับระบบคุณธรรม หลักศาสนาของทุกศาสนา กระตุ้นให้เด็กและเยาวชนแปลงความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เสริมความตระหนักและจิตสำนึก สู่แนวทางปฏิบัติในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนเป็นสถาบันที่สำคัญและมีผลชี้นำชี้แนะที่สร้างสรรค์ให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนได้อย่างมาก สถาบันสื่อมวลชนจึงน่าที่จะช่วยกันรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนหันมาสนใจวันสำคัญทางศาสนา และแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่ดีไม่ใช่มีแต่เพียงความตั้งใจเท่านั้น นอกจากนี้กลุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ทั้งหลายควรใช้โอกาสวันมาฆบูชานี้ทำให้ความตั้งใจของเด็กและเยาวชนบรรลุถึงกิจกรรมที่ดีได้
นอกจากนี้ โรงเรียนและชุมชนควรจัดสร้างบรรยากาศของการทำความดีให้เกิดขึ้นโดยมีกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกำลังสำคัญในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำบุญตักบาตรร่วมกัน การทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อโรงเรียนและชุมชน เป็นต้น ผลที่ตามมาก็คือ เด็กและเยาวชนของสังคมน่าจะสามารถบรรลุถึงความสำเร็จในการทำกิจกรรมที่ดีตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาได้อย่างยั่งยืนต่อไป ดร.นพดล กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น