"สตีเฟน ยัง" ในฐานะนักศึกษาฮาร์วาร์ดที่ค้นพบบ้านเชียง แหล่งโบราณคดีแห่งที่ราบสูง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี และในฐานะลูกชายทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เติบโตและศึกษาเล่าเรียนอยู่ในเมืองไทย เฝ้ามองดูความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการปกครองไทยมานาน ได้ให้สัมภาษณ์ สุทธิชัย หยุ่น ทางรายการชีพจรโลก ออนแอร์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท วันที่ 8 กันยายนและตีพิมพ์ทางหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์คมชัดลึกความว่า
"สตีเฟน ยัง" ได้ติดตามการเคลื่อนไหนของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ตั้งแต่เริ่มทำชิน คอร์เปอเรชั่นฯ กับการได้มาซึ่งสัมปทานโทรศัพท์จากรัฐบาลโดยระบบ "ผูกขาด" และวิเคราะห์แนวคิดของพ.ต.ท.ทักษิณเป็นแบบจักรพรรดิของจีน ซึ่งถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดย "ฉิน จื่อ หวาง" แบ่งเป็นเบื้องบนคือสวรรค์ ถัดลงมาเป็นคนคนหนึ่ง ส่วนเบื้องล่างคือคนที่เหลือ แล้วเข้าควบคุมรัฐบาล ตำรวจ ผู้พิพากษา นักธุรกิจ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ทำให้ทุกสิ่งอยู่ใต้เขา ซึ่งไม่เคยมีผู้นำไทยคนไหนในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่พยายามทำเช่นนี้มาก่อนเลย (จุดนี้เข้าใจว่ายังไม่มีใครพูดถึงชัดนัก)
เขาชี้ว่าในเมืองไทยคนตัวเล็กๆ มักจะแหงนมองคนสำคัญ เพราะพวกเขามีความรู้สึกของระบบอุปถัมภ์อยู่ ทว่าทักษิณเข้าไปตัดลำดับขั้นต่างๆ เพื่อเข้าไปปกครองโดยตรง ทุกคนทำงานภายใต้ตัวผู้นำ ไม่ใช่ความร่วมมือแบบเก่าๆ แต่คนส่วนใหญ่ทำงานให้ทักษิณและเชื่อว่าทักษิณจะใช้เงินดูแลพวกเขา เมื่อถามว่าลักษณะเช่นนี้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ สตีเฟนบอกว่าประชาธิปไตยที่ปราศจากศีลธรรมจะย่ำแย่ แต่ความยุติธรรมต่างหากคือสิ่งจำเป็น
"ย้อนกลับไปที่ อริสโตเติล หากคุณเป็นประชาธิปไตย แต่คุณฉ้อโกง ทำร้ายผู้อื่น เราเรียกว่าทรราช คุณไม่มีศีลธรรม ไม่ยุติธรรม นั่นเป็นระบบที่เลวร้าย อริสโตเติลกล่าวไว้ว่าทุกๆ ระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบอบกษัตริย์ ขุนนาง หรือประชาธิปไตย ต้องมีกฎหมาย มีศีลธรรม และเป็นธรรม ที่จะควบคุมอำนาจในทางมิชอบ" (น้อยคนนักที่จะอ้างอิงเช่นนี้)
อย่างไรก็ดี สตีเฟนได้ตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเดินไปผิดทางคือ การปกครองลักษณะเดียวกับอาร์เจนตินา ภายใต้การนำของ "ฮวน เปรอง" ที่ไปหาคนจนแล้วโทษคนรวย บอกให้คนจนโหวตเขาแล้วเขาจะลงโทษคนรวย เอาเงินจากคนรวยมาให้คนจน เอาคนจนไปต่อสู้กับคนรวย ทั้งที่ปี 1930 ก่อนยุคฮวน เปรอง อาร์เจนตินาได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวย แต่ผู้นำเผด็จการได้ทำลายเศรษฐกิจและสร้างพรรคเผด็จการ 70 ปีต่อมาอาร์เจนตินาก็เผชิญกับความยากจนและแตกแยก สตีเฟนมองว่าหากไทยยังปล่อยให้เป็นแบบนี้ก็จะประสบชะตากรรมเดียวกัน
สตีเฟนย้ำว่า ระบบที่ดีอยู่ที่ใครจะสร้างความยุติธรรมในสังคมได้ ใครที่ปกครองอย่างมีศีลธรรม สามารถตรวจสอบควบคุมซึ่งกันและกันได้ รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ดี แต่บางคนที่มีเงินเข้ามาแล้วทำตัวเหมือนหนูที่เอาเนยแข็งทั้งก้อนไป คุณความดีของรัฐธรรมนูญสูญหายไป ผู้คนไม่พอใจ ประท้วง ปฏิเสธการประนีประนอม ที่ผ่านมาสตีเฟนได้ยินทักษิณพูดว่า รัฐประหาร 19 กันยายน 49 ล้มล้างเขา ตั้งแต่นั้นเขาถูกข่มเหงมาโดยตลอด ทั้งที่ก่อนหน้าทักษิณได้ฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและทำลายกฎหมาย สร้างความชอบธรรมและอะลุ้มอล่วยทางกฎหมาย คือ เขาได้เริ่มกระบวนการล่มสลายเอง และรัฐประหารก็เป็นส่วนหนึ่งของการล่มสลาย
"ตอนนั้นผมรู้สึกเศร้าใจ อะไรคือทางออกของไทย ถ้าเดินหน้าต่อกับทักษิณก็จะจบลงด้วยเผด็จการแบบจีน ซึ่งไม่ดีกับประเทศไทย แต่ถ้าเลือกรัฐประหารมันก็ขัดรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยไม่ควรอยู่ในจุดนั้น ไม่ใช่เพราะกองทัพ ไม่ใช่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ใช่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่เป็นเพราะคนคนหนึ่งกับทีมของเขาเอง"
เมื่อถามย้ำว่าทักษิณโทษป๋าเปรมว่าเป็นต้นเหตุของความเดือดร้อนทั้งหมด สตีเฟนตอบว่าทักษิณเป็นคนฉลาดพูด เขารู้จักหัวใจของคนไทยดี รู้ว่าควรจะพูดอะไรให้คนไทยคิดเหมือนเขา ในตะวันตกเรียกว่า "ผู้ปลุกปั่น" เขาจะศึกษาตัวคนฟังและอารมณ์ แล้วพูดในสิ่งที่คนอยากได้ยิน ไม่ใช่ชอบหรือห่วงใย แต่เพราะต้องการบางอย่างคือ เสียงโหวตและความภักดี
ท้ายที่สุดแล้วสตีเฟนยังมีความหวังว่า ความแตกแยกทางการเมืองในไทยแก้ไขได้ ถ้าทุกฝ่ายนั่งลงแล้วคุยกันถึงวิธีแก้ปัญหาแบบไทยๆ แล้วทำงานร่วมกัน เช่น โครงการพัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนาการศึกษา ฯลฯ ทุกคนควรมีจิตสำนึกของสิ่งถูกต้องตามทำนองคลองธรรม จริยธรรม และความภาคภูมิใจที่เป็นคนไทย ที่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหรือต้องฟังใคร ที่สำคัญหากความทะเยอทะยานของทักษิณถูกนำออกไปจากบริบทปัญหานี้ก็น่าจะมีทางออกสักทาง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น