วันจันทร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2554

ม.ศิลปากรจัดงานวันนริศเทิดพระเกียรตินายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม

มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดงานวันนริศ ไหว้สมเด็จครู นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เพื่อน้อมรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าบรม-วงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ผู้ทรงเชี่ยวชาญงานช่างและศิลปะไทยหลายแขนง จนได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ( UNESCO ) โดยหม่อมเจ้าหญิงกรณิกา จิตรพงศ์ ประธานมูลนิธินริศรานุวัดติวงศ์ เป็นประธานในพิธี ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพ ฯ โดยจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบที่น่าสนใจ อาทิ
• พิธีไหว้ครูช่าง
• นิทรรศการพระประวัติและผลงานพระนิพนธ์ หัวข้อ “เพลงสรรเสริญพระบารมี”
ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ
• นิทรรศการภาพถ่ายนานาชาติ ครั้งที่ ๗ หัวข้อ “เคลื่อนไหว”
โดยผลงานของนักถ่ายภาพชาวไทยและชาวต่างประเทศ
ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ
• นิทรรศการผลงานการออกแบบของสมเด็จครู : ตึกถาวรวัตถุ
โดยโครงการจัดตั้งสถาบันศิลปะสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร
ณ หอศิลปะสถาปัตยกรรมพระพรหมพิจิตร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
• เสวนาวิชาการประกอบการแสดงดนตรี
เรื่อง “เพลงสรรเสริญพระบารมี : บทบาท หน้าที่ และแรงบันดาลใจ”
วิทยากรโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล
ศาสตราจารย์สาขาดนตรีคนที่ ๓ ของประเทศไทย และคณะ
ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ
• การบรรเลงดนตรีและขับร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี
โดยสำนักการสังคีต กรมศิลปากร และนักศึกษาชมรมดนตรีไทย และ
นักศึกษาคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ
• การแสดงละครดึกดำบรรพ์ เรื่อง “อิเหนา ตอนไหว้พระ”
โดยนักแสดงจากกรมศิลปากร
ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ

วันศุกร์ที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๔ เวลา ๑๔.๓๐ – ๑๖.๐๐ น.
• การบรรยายวิชาการ
หัวข้อ ตึกถาวรวัตถุ : แนวคิดและการออกแบบทางสถาปัตยกรรมของสมเด็จครู
วิทยากรโดย รองศาสตราจารย์ ดร. สมคิด จิระทัศนกุล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
ณ ห้องบรรยาย ชั้น ๑ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

สำหรับในปีนี้ นับเป็นพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ จำนวน ๑ องค์ ร่วมในการแสดงนิทรรศการภาพถ่ายนานาชาติ ครั้งที่ ๗ หัวข้อ “เคลื่อนไหว”

นอกจากนี้ ยังมีผลงานภาพถ่ายนานาชาติที่ได้รับ
รางวัลและร่วมแสดงของนักถ่ายภาพทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จำนวน ๑๑๖ ชิ้น รวมทั้งผลงานภาพถ่ายของนักถ่ายภาพเชื้อเชิญ อาทิ ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง รองศาสตราจารย์พิษณุ ศุภนิมิตร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ญาณวิทย์
กุญแจทอง นิติกร กรัยวิเชียร นภดล โชตะสิริ ดาว วาสิกศิริ
กนก สุริยสัตย์ ประธาน ธีระธาดา อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง และ
ราฟ ทูเท็น
นิทรรศการจัดแสดงระหว่างวันที่ ๒๑ เมษายน – ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดได้ที่ งานประชาสัมพันธ์ โทร. ๐ ๒๘๔๙ ๗๕๓๘ หรือ www.photo.su.ac.th

เพลงสรรเสริญพระบารมี ผลงานพระนิพนธ์ใน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าจิตรเจริญ” ทรงเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย ประสูติเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๐๖ เป็นต้นราชสกุลจิตรพงศ์ ทรงมีพระปรีชาสามารถทางด้านการเมือง การปกครอง รวมทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะงานด้านการช่าง งานศิลปะเกือบทุกแขนง ทรงมีผลงานด้านจิตรกรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม นาฏศิลป์ และดนตรี ทรงได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นบุคคลดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลกประจำปีพุทธศักราช ๒๕๐๖ ด้วยพระปรีชาสามารถในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะทางด้านดนตรี ทรงพระนิพนธ์คำร้อง “เพลงสรรเสริญพระบารมี” ที่ใช้บรรเลงในปัจจุบัน
เพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นเพลงที่บรรเลงเพื่อสรรเสริญพระบารมีแห่งพระมหากษัตริย์ เดิมทีนำมาใช้เป็นเพลงประจำชาติ โดยเป็นเพลงชาติไทยฉบับที่ ๓ นิพนธ์คำร้องโดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๑ – ๒๔๗๕
เพลงสรรเสริญพระบารมี มีเค้าโครงว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีเพลงที่มีลักษณะคล้ายเพลงสรรเสริญพระบารมีอยู่ก่อนแล้ว จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะประทับอยู่ที่สิงคโปร์ ทหารอังกฤษได้ใช้เพลง God Save the Queen ในการรับเสด็จ ต่อมาพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปที่เมืองปัตตาเวีย ชาวฮอลันดาที่ตั้งอาณานิคมอยู่บริเวณนั้น ได้ทูลถามถึงเพลงประจำชาติของไทย เพื่อที่จะได้นำไปบรรเลงรับเสด็จ ท่านจึงมีพระราชดำริให้ครูดนตรีไทยแต่งเพลงแตรวงรับเสด็จ แต่ครูดนตรีไทยได้ทูลเสนอเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ได้ประพันธ์ไว้แล้วในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศ-หล้านภาลัย โดยทรงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร แต่งคำร้องเพื่อประกอบทำนองเพลงเป็นโครง และให้ปโยตร์ สซูโรฟสกี้ นักประพันธ์เพลงชาวรัสเซีย แต่งทำนองเพลงตามเพลง God Save the Queen ซึ่งทรงโปรดมากเมื่อครั้นฟังที่สิงคโปร์ นอกจากนี้ ทรงให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นิพนธ์เนื้อร้องไว้หลายแบบเพื่อขับร้องในกลุ่มต่าง ๆ กัน ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำเพลงสรรเสริญพระบารมีมาพระราชนิพนธ์คำร้องขึ้นใหม่ โดยทรงรักษาคำร้องเอาไว้ มีบทร้องขึ้นต้นเช่นเดิม แต่เปลี่ยนคำว่า “ฉะนี้” เป็น “ไชโย” ส่วนทำนองเพลง แต่งโดย พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) และประกาศใช้ ในวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ และใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Google