วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ออกพรรษากี่ฝนสังคมไทยถึงจะลดปัญหาความขัดแย้ง

เที่ยงคืนวันที่ 4 ต.ค. ก็จะหมดเวลาติดคุกของพระแล้ว และออกพรรษาดีอย่างไร คนที่งดเหล้าก็กลับมากินเหมือนเดิม สังคมไทยก็มีความขัดแย้งกันอยู่เหมือนเดิม แล้วนัยยะของวันออกพรรษามากกว่านี้หละเป็นอย่างไร

ปกติแล้วเป็นคนที่ไม่ค่อยเน้นเรื่องพิธีกรรมเท่าใดหนัก เวลาถึงวันออกพรรษาก็ให้หวนนึกถึงและต้องเขียนเรื่องนี้อีกว่าความหมายที่แท้จริงของวันออกพรรษาตามหลักพระพุทธศาสนาคืออะไร และจะสามารถแก้ปัญหาให้กับสังคมไทยได้อย่างไรในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองกันอย่างรุ่นแรงอยู่ขณะนี้

เช้าวันที่ 4 ต.ค.ซึ่งเป็นวันออกษาพอตื่นขึ้นมาชาวพุทธส่วนใหญ่เสื้อสีต่างๆก็ไปวัดทำบุญไม่ว่าจะเป็นการให้ทาน รักษาศีล และฟังพระเทศน์ถึงความสำคัญของวันนี้เป็นอย่างไร
พอกลับไปบ้านพวกเราก็มีความขัดแย้งกันเหมือนเดิม ที่เคยด่ากันก็ด่าเหมือนเดิม แล้วแบบนี้วันออกพรรษาจะมีประโยชน์อะไรมากกว่านี้ ทั้งๆ ที่วันออกพรรษานี้มีนัยยะสำคัญที่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยได้ ทั้งนี้ไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับการไปวัดทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา ก็ต้องขออนุโมทนาบุญด้วย แต่คิดว่ามันน่าจะมีประโยชน์มากกว่านี้


นัยยะที่สำคัญของวันออกพรรษาอยู่ที่การแก้ปัญหาความขัดแย้งในหมู่สงฆ์ ซึ่งญาติโยมทั้งหลายจะนำไปประยุกต์ใช้ก็จะเกิดประโยชน์ยิ่ง พระพุทธองค์จะเรียกวันออกพรรษว่า "วันมหาปวารณา" (อ่านว่า ปะ-วา-ระ-นา) คือ วันที่เปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันได้ด้วยเมตตาจิต เมื่อได้เห็น ได้ฟังหรือสงสัยในพฤติกรรมของกันและกัน
ความเป็นมาของการทำปวารณากรรม หรือการให้พระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันและกันในวันออกพรรษานี้


สืบเนื่องมาจากในสมัยพุทธกาล พุทธสาวกจะมีธรรมเนียมปฏิบัติอยู่อย่างหนึ่ง คือ เมื่อออกพรรษาหมดฤดูฝน แม้จะจำพรรษาอยู่ที่ใกล้ไกลแค่ไหนก็จะพากันเดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ครั้นได้เฝ้าแล้ว พระพุทธองค์จะทรงตรัสถามถึงสิ่งที่พระภิกษุได้ประพฤติปฏิบัติในระหว่างจำพรรษา ปรากฏว่ามีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งเกรงว่าในช่วงจำพรรษาด้วยกัน จะเกิดการขัดแย้งทะเลาะวิวาท จนอยู่ไม่สุขตลอดพรรษา จึงได้ตั้งกติกากันเองว่าจะไม่พูดจากัน

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องนี้จึงทรงตำหนิว่าการประพฤติมูควัตร (ทำตนเป็นใบ้เงียบไม่พูดจากัน) เป็นเรื่องเหลวไหลไร้ประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ เพราะประพฤติเหมือนพฤติกรรมของสัตว์ เช่น แพะ แกะ ไก่ วัว ที่อยู่ด้วยกันก็ไม่ถามไถ่ทุกข์สุขของกันและกัน แล้วทรงสั่งสอนภิกษุทั้งหลายว่า ความประพฤติเช่นนั้นไม่สมควรแก่คนทั้งหลายหรือผู้ที่มีความเจริญแล้ว

จึงทรงวางระเบียบวินัยให้เป็นหลักปฏิบัติสืบต่อมาว่าให้ภิกษุที่จำพรรษาครบสามเดือนแล้วทำปวารณาแทนอุโบสถสังฆกรรมในวันออกพรรษา การปวารณาหรือการว่ากล่าวตักเตือนในหมู่สงฆ์นี้ ผู้ว่ากล่าวตักเตือนจะต้องทำด้วยความเมตตา ปรารถนาดีต่อผู้ถูกตักเตือนทั้งกาย วาจา และใจ

ส่วนผู้ถูกว่ากล่าวตักเตือนก็ต้องมีใจกว้าง มองเห็นความปรารถนาดีของผู้ตักเตือน ถ้าเป็นจริงตามคำกล่าวก็ปรับปรุงตัวใหม่ หากไม่จริงก็สามารถชี้แจงแสดงเหตุผลให้กระจ่าง ทั้งสองฝ่ายต้องคิดว่าทักท้วงเพื่อก่อ ฟังเพื่อแก้ไข จึงจะได้ประโยชน์และตรงกับความมุ่งหมายของการปวารณาที่จะสร้างความสมัครสมานสามัคคีและดำรงความบริสุทธิ์หมดจดไว้ในสังคมพระสงฆ์

สำหรับฆราวาสหรือพุทธศาสนิกชนก็สามารถนำหลักการปวารณาในวันออกพรรษานี้มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้ทั้งในครอบครัว สถานศึกษาหรือในสถานที่ทำงานโดยการเปิดโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมือง เปิดใจให้มีการว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ จะต้องยึดหลักความเมตตาต่อกันเป็นที่ตั้ง กล่าวคือ ถ้าจะติก็ติด้วยความหวังดีมิใช่ทำลายอีกฝ่าย ส่วนผู้ถูกติก็ควรรับฟังด้วยดีและมองเห็นความหวังดีของผู้ว่ากล่าว หากจริงก็แก้ไข ไม่จริงก็ปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน เช่นนี้ย่อมทำให้สังคมเกิดความสงบสุข สามารถแก้ไขปัญหา และพร้อมจะพัฒนาไปด้วยกันทุกฝ่าย

เรื่องความขัดแย้งในหมู่ชนผู้นับถือในพระบวรพุทธศาสนา นับเป็นเรื่องที่ลำบากในพระทัยของพระพุทธองค์ไม่น้อยเลยกว่าที่พระองค์จะทรงระงับความบาดหมางในพระศาสนาของพระองค์ได้โดยสวัสดีก็ต้องใช้เวลา


ขณะเดียวกันหากพระหรือฆราวาสเป็นสาเหตุสร้างความแตกแยกแล้ว ถ้าเป็นโทษทางวินัยก็ปรับขั้นปราชิกต้องขาดจากความเป็นพระและถือเป็นบาปหนักขึ้นสังฆเภท มีตัวอย่างสมัยที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตพระนคร โกสัมพี ครั้งนั้น ยังมีภิกษุรูปหนึ่งต้องอาบัติแล้ว มีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ แต่ภิกษุ เหล่าอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าไม่เป็นอาบัติ สมัยต่อมา ภิกษุรูปนั้นกลับมีความเห็นใน อาบัตินั้นว่าไม่เป็นอาบัติ แต่ภิกษุเหล่าอื่นมีความเห็นในอาบัตินั้นว่าเป็นอาบัติ จนกระทั้งแตกออกเป็นสองฝ่ายรวมถึงญาติโยมก็แตกแยกกันด้วย พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้ยึดหลัก "ปวารณา" แต่พระทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่นำพา พระพุทธองค์จึงปลีกวิเวกในป่าให้ช้าง ลิง รับใช้

เมื่อชาวบ้านเห็นว่าพระเป็นสาเหตุให้พระพุทธเจ้าปลีกวิเวก จึงลงโทษด้วยการไม่ใส่บาตร เมื่อพระไม่มีข้าวฉันก็ยอมลดทิฐิหันมาสามัคคีกันเช่นเดียวปฏิบัติตามหลัก "ปวารณา"

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.ปยุตโต) เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม ได้เสนอความคิดเกี่ยวกับความขัดแย้งแบบสร้างสรรค์ว่า ความขัดแย้งนั้นในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา คือ มันเป็นธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายที่มีความแตกต่างกันเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ซึ่งความแตกต่างนั้นก็ขัดกันบ้าง เข้ากันบ้าง แล้วทำให้เกิดความหลากหลายและความสมบูรณ์ แต่มนุษย์เป็นธรรมชาติส่วนพิเศษที่สามารถจัดสรรความเป็นไปต่างๆ ให้เป็นไปตามเจตนาของตนได้ มนุษย์จึงเอาประโยชน์จากความขัดแย้งก็ได้ ปรับเปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นความประสานเสริมกันก็ได้ แม้แต่ความแตกต่าง แทนที่จะให้เป็นความขัดแย้ง มนุษย์ที่ฉลาดก็อาจทำให้กลายเป็นส่วนเติมเต็มของกันและกัน ซึ่งท่านได้ตั้งข้อสังเกตไว้ดังนี้

ขั้นแรก มนุษย์ต้องขัดแย้งเป็น จึงจะเกิดประโยชน์ เช่น แทนที่จะให้เป็นการกระทบกระทั่งระหว่างกันทางสังคมหรือแม้แต่การกระทบทางจิตใจ ก็ให้เป็นการมาช่วยกระทบทางปัญญา แล้วทำให้เกิดแง่คิด มุมมอง และเกิดสติปัญญาอะไรใหม่ๆ

ขั้นที่สอง ความขัดแย้งนั้น ต้องมาจากเจตนาที่ดี คือมาจากเจตนาที่เป็นกุศล โดยปรารถนาดีต่อกัน มีความมุ่งหมายเพื่อความดีงามความเจริญ เพื่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ เพื่อให้สังคมส่วนรวมมีความร่มเย็นเป็นสุข ไม่คิดเบียดเบียนใคร ข้อสังเกตในที่นี้คือ ความขัดแย้งที่เป็นปัญหานั้น ก็คือ ความขัดแย้งที่เกิดจากเจตนาที่ไม่ดี

ในทางปฏิบัติแล้ว วิธีการในการจัดการกับความขัดแย้งนั้น จะต้องใช้วิธีการในเชิงปฏิบัติที่ดี คือ ด้านที่เป็นการแสดงออกทางกาย ก็ต้องทำด้วยเมตตา มีกิริยาอาการที่เอื้อเฟื้อทั้งต่อคนนั้นและต่อสังคมทั้งหมด ด้านวาจา ก็พูดด้วยเจตนาที่ดี มีถ้อยคำสุภาพ และในด้านจิตใจ ในที่สุดก็เริ่มจากใจที่มีเมตตา โดยมีความปรารถนาดีเป็นที่ตั้ง

แนวทางนี้ จึงเป็นแนวทางที่จะช่ว ยทำให้การขัดแย้งแม้แต่ในทางความคิด ให้กลายเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเสริมเติมความรู้ และทำให้เกิดการสร้างสรรค์ โดยการแลกเปลี่ยนความรู้กับคนอื่นที่อาจรู้แตกต่างไปจากเรา

ดังนั้นเมื่อนักการเมืองทั้งหลายยังแตกแยกแบ่งฝ่ายกันอยู่เช่นนี้ คนไทยน่าจะมีมาตรการไม่สนับสนุนนักการเมืองเหล่านี้ ดูซิว่านักการเมืองเหล่านี้จะอยู่ได้หรือ เพื่อให้หันมามองความขัดแย้งแบบสร้างสรรค์ตามที่พระพรหมคุณาภรณ์แนะนำนานแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Google