วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เชียงใหม่จัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมือง7 - 9 สิงหาคม


Khonkhurtai : 6 สิงหาคม 2554

เชียงใหม่เตรียมจัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2554 จะมีตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองกว่า 36 กลุ่มชาติพันธุ์จากทุกภูมิภาคของประเทศไทยเข้าร่วม....

ในวันที่ 7 - 9 สิงหาคม 2554 นี้ จังหวัดเชียงใหม่จะมีการจัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2554 กับการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตและสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง โดยงานจะจัดขึ้นที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จะมีตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองกว่า 36 กลุ่มชาติพันธุ์จากทุกภูมิภาคของประเทศไทย ร่วมกับภาคีองค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐ สถาบันวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมืองร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และหน่วยงานรัฐ ที่เป็นคณะกรรมการและคณะทำงานจัดงานฯ ได้เข้าร่วม

ภายในงานจะมีการแสดงวัฒนธรรม กายกรรม ดนตรี เครื่องแต่งกาย อาหาร ของชนเผ่าพื้นเมือง นอกจากนี้ยังจะมีเวทีแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการ ในหัวข้อ "เขตวัฒนธรรมพิเศษกับทิศทางการพัฒนาชนเผ่าพื้นเมืองกับกลุ่มชาติพันธุ์" รวมถึงจะมีการจัดซุ้มแสดงวิถีชีวิตพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง

ตั้งแต่ปี 2550 เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนและหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมือง ได้ร่วมกันประกาศให้วันที่ 9 สิงหาคมทุกๆ ปีเป็นวันมหกรรมชนเผ่าพื้นเมือง และได้ร่วมกันจัดงานนี้มาตั้งแต่ปี 2550 - 2553 เพื่อให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์และปัญหาร่วมกัน และเป็นพื้นที่สาธารณะในการแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย

การจัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองนี้เป็นไปตามที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้ประกาศให้วันที่ 9 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลก หรือ International Day of the World’s Indigenous Peoples ตลอดจนกำหนดให้ระหว่างปี พ.ศ. 2548–2557 (ค.ศ. 2005 - 2014) เป็นทศวรรษสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลก (ระยะที่ 2) และที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติรับรองปฏิญญาสหประชาชาติว่า ด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา

นายศักดิ์ดา แสนมี่ ผู้ประสานงานเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานในปีนี้ว่า เพื่อต้องการสร้างการยอมรับสิทธิทางวัฒนธรรมและสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองด้วยการนำเสนอวิถีชีวิตและคุณค่าทางวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองต่อสังคมและเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองในการรวมพลังขับเคลื่อนการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับสิทธิทางวัฒนธรรมและสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

สำหรับประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมืองที่มีความหลากหลายทาง ชาติพันธุ์ และอาศัยอยู่กระจัดกระจายตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศโดยเฉพาะบริเวณแถบชายแดน ซึ่งชนเผ่าพื้นเมืองนับได้ว่าเป็นผู้ที่มีภาษา อัตลักษณ์ วัฒนธรรมและบริบทของสังคมที่แตกต่างกันออกไปจากสังคมใหญ่ มีวิถีการดำเนินชีวิตที่ผูกพันและใกล้ชิดกับธรรมชาติอย่างแนบแน่น เน้นระบบการผลิตและการใช้ทรัพยากรเพื่อการยังชีพเป็นหลัก มีกระบวนการถ่ายทอดและสืบต่อวัฒนธรรมและแบบแผนการดำเนินชีวิตของแต่ละกลุ่ม จากรุ่นสู่รุ่นมาช้านาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Google