รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ ได้ประกาศสงครามกับยาเสพติด ความยากจน และการทุจริตคอรัปชั่นและผู้มีอิทธิพล รัฐบาลได้ประกาศชัยชนะกับการทำสงครามกับยาเสพติดมาแล้ว พร้อมขีดเส้นให้ผู้มีอาวุธสงครามเข้ามามอบกับทางราชการ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา ส่วนการทำสงครามกับความยากจน โดยได้ประกาศจะใช้เวลา 6 ปี คนจนในแผ่นดินนี้จะต้องหมดไป
บันไดขั้นต้นก็คือ รัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่จดทะเบียบคนจน เพื่อสำรวจตัวเลขให้ชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าใด โดยเปิดรับ 7 กลุ่ม คือ 1.ผู้ประสบปัญหาที่ดินทำกิน 2.คนเร่ร่อน 3.ผู้ประกอบอาชีพผิดกฎหมาย 4.การให้ความช่วยเหลือนักเรียน/นักศึกษาให้มีรายได้จากอาชีพที่เหมาะสม 5.ปัญหาการถูกหลอกลวง 6.ปัญหาหนี้สินภาคประชาชน และ 7.ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจน
และต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง หรือมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง แต่ไม่เพียงพอประกอบอาชีพ หรือประกอบอาชีพอื่นที่เป็นการสนับสนุน หรือต่อเนื่องกับการปฏิรูปที่ดิน โดยกรณีมีที่ดินอยู่แล้ว และกรณีประกอบอาชีพอื่นนั้น จะต้องเป็นผู้ถือครองที่ดินเดิมอยู่แล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สปก.เท่านั้น
เมื่อรัฐบาลได้นิยามคำว่า "คนจน" เช่นนี้ นักวิชาการจึงได้ออกมาติงว่า "เป็นคำนิยามผิดไป" เพราะคนจนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร แม้รัฐจะแจกมีที่ดินให้เพื่อทำการเกษตร แต่เกษตรกรไม่มีเงินลงทุน ก็ต้องไปกู้จนเป็นหนี้อีก
ยังมีคนจนอีกประเภทหนึ่งที่มีงานทำทั้งในภาครัฐและเอกชน เสียภาษีให้กับรัฐ จ่ายเงินประกันสังคมทุกเดือนอย่างน้อยเดือนละ 600 บาท สภาพความเป็นอยู่ก็ไม่ได้แตกต่างจากคนจนทั่วๆ ไป ต้องหาเช้ากินค่ำ เงินเดือนที่ได้รับก็ชนเดือนหรือไม่พอกับรายจ่าย จำเป็นต้องกู้เงินทั้งในและนอกระบบเหมือนกับคนจนทั่วไป
เวลาคนจนประเภทนี้ป่วยแทนที่จะได้รับการบริการที่ดีจากโรงพยาบาล เท่ากับเม็ดเงินประกันสังคมที่จ่ายไป แต่กลับมีเสียงสะท้อนออกมาว่า ได้รับการบริการด้อยกว่าบุคคลที่จ่ายเงินหรือมีกรมธรรม์ประกันชีวิต ยาที่ได้รับก็น้อยมาก รับประทานได้เพียง 3 วันก็หมดแล้ว และคุณภาพของยาต่ำ มีสภาพไม่ต่างอะไรกับหนูทดลองยา หรือแม้แต่ซองที่ใส่ยาก็แตกต่างกัน
ถ้าเป็นคนที่ใช้เงินสดจ่าย ทางโรงพยาบาลก็จะใส่ซองอย่างดี หากเป็นคนป่วยที่ใช้บัตรประกันสังคม ก็จะใส่ถุงพลาสติกเหมือนกับถุงใส่สินค้าทั่วๆ ไป
คนจนประเภทนี้จึงมีสภาพเป็นราษฎรชั้น 2 ที่ถูกเลือกปฏิบัติจากภาครัฐ ไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐเท่าที่ควร โครงการเอื้ออาทรต่างๆ ก็มาไม่ถึง เสียงสะท้อนเหล่านี้ขอเพียงความเสมอภาคจากรัฐเท่านั้น
......
มหาเนชั่น
samran@nationgroup.com
วันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ.2003 คมชัดลึก
วันจันทร์ ที่ 19 มีนาคม 2550
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น