วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2552

พระประยุทธ์ให้ทำความดีเช่นเทพจตุคามอย่าเป็นเหยื่อลัทธิบริโภคนิยม

"เจ้าคุณประยุทธ์"วิพากษ์กระแส"จตุคามฯ" วงจรลัทธิบริโภคนิยมกับลัทธิหวังผลดลบันดาลมาบรรจบกัน ทำสังคมไทยหมุนกลิ้ง คนเป็นโรคเส้นตื้น เป็นเหยื่อที่ดีของธุรกิจ "พระ-วัด"ฉวยโอกาสหาลาภ ไม่ยืนอยู่กับพระรัตนตรัยผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้เตรียมเผยแพร่บทสนทนาธรรม "คติ : จตุคามรามเทพ" เนื่องในโอกาสวิสาขบูชา วันที่ 31พฤษภาคม จัดพิมพ์โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จำนวน 10,000 เล่ม เนื้อหาถ่ายทอดผ่านบทสนทนาธรรมระหว่างคณะผู้มาเยี่ยม กับท่านเจ้าคุณปยุต มีทั้งหมด 6 บท ได้แก่ บทสนทนาธรรม "คติ : จตุคามรามเทพ, หลวงพ่อที่ดัง มีเทวดาใหญ่เฝ้าดู, ที่ใหญ่แท้คือธรรม พึ่งกรรมดีกว่ารอเทวดา, เทพดี คนดี บรรจบกันที่ธรรม, ผู้มีปัญญา เชิญเทพพรหมมาช่วยพัฒนาบ้านเมือง และยุคธุรกิจฟู่ฟ่า เงินต้องมาเป็นทาสรับใช้ธรรม รวม 24 หน้า ท่านเจ้าคุณปยุตตอบคำถามของผู้มาเยี่ยมที่แสดงความเป็นห่วงปรากฏการณ์จตุคามฯ ว่ากระแสจตุคามฯเป็นเพียงอาการหนึ่งของโรคนี้ที่สังคมไทยเป็นมานานแล้ว เรื่องพระพรหม พระราหู พระพิฆเนศ คนไทยเอาทั้งนั้น เดี๋ยวก็ฮือๆ แต่ตอนนี้อาการแรงขึ้นๆ ถ้าปล่อยกันอยู่ ก็คงแรงขึ้นไปเรื่อยๆ จนไปถึงจุดหนึ่งก็อาจจะเป็นสังคมหลักลอย ที่ผู้คนเลื่อนลอย หาอะไรเป็นหลักยึดไม่ได้ บางคนอาจจะเรียกว่า "โรคเส้นตื้น" มองอีกแง่หนึ่ง เรื่องนี้ ถ้าคนเป็นชาวพุทธจริง ไม่ต้องไปห่วง ถึงจะนับถือของพวกนี้ ก็จะมีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่ให้เกิดผลเสียหายท่านเจ้าคุณปยุตกล่าวว่า พวกที่พาสังคมเคว้งคว้างน่าห่วงแน่ คือพวกตื่นตามกระแส หรือพวกเหยื่อกระแส พวกนี้นอกจากไม่มีหลักอะไร พระพุทธศาสนาที่ตัวว่านับถือ ก็ไม่รู้จักเลย นอกจากนั้นแล้ว แม้แต่สิ่งที่ตัวไปรับเอามา อย่างจตุคามฯนั้น ตัวก็ไม่รู้หน้ารู้หลังว่าเป็นอะไร ไปอย่างไรมาอย่างไรกันแน่ ได้แต่ว่าไปตามเสียงที่ปั่นกระแสเท่านั้นเอง นี่ด้านชาวบ้าน แต่ไม่ใช่แค่โยมเท่านั้น มาเป็นเรื่องของพระกับวัด ที่พลอยเข้ากระแสไปกับชาวบ้านด้วย คือ หนึ่ง เหมือนกับถือหรือฉวยโอกาสหาลาภ หารายได้ หาผลประโยชน์ไปด้วย สอง เสียหลัก ไม่ยืนอยู่ในหลักการของตัว คือพระรัตนตรัย และพระธรรมวินัย แค่เอาเทพมาปลุกเสกในวัด ถ้าทำพลาด จะกลายเป็นว่าพระไปนับถือเทพเข้า ก็หล่นคะมำเลย นี่ทำไปได้อย่างไร สำหรับพวกที่ไปตื่นหาจตุคามฯนั้น ก็มีแง่ที่น่าเห็นใจอยู่บ้าง แต่ไม่มีแง่ที่จะตามใจ อย่างที่อ่อนแอคอยหวังผลหวังพึ่ง หรือเติบโตขึ้นมาโดยไม่มีความรู้เข้าใจเรื่องอย่างนี้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร ทำให้ตื่นตูมตามกระแสไปง่ายๆ ต้องมองไปที่คนและสถาบันที่ควรจะทำหน้าที่รับผิดชอบเช่นให้การศึกษา นอกจากนี้ ท่านเจ้าคุณปยุตยังอรรถาธิบายความรู้เข้าใจเรื่องหลักความสัมพันธ์ระหว่างเทพกับปูชนียวัตถุ-สถานในพระพุทธศาสนา ระหว่างมนุษย์กับเทวดา ระหว่างคนกับเทพ รวมถึงประวัติความเป็นมาของจตุคามฯ โดยบอกว่าเป็นการรู้จักตัวเอง ถ้าแค่เรื่องตัวเองก็ยังไม่รู้ ทางที่ตัวเองเดินมาก็ไม่เห็น แถมข้างหน้าก็มืดอีก แล้วจะมองจะเดินต่อไปให้ดีได้อย่างไรผู้ร่วมสนทนาอีกคนถามว่า เทวดาดีอย่างจตุคามฯที่รักษาพระธาตุนครศรีธรรมราช มีเมตตากรุณาคอยช่วยเหลือคน เลยทำให้คนคอยหวังพึ่ง รอให้มาช่วย แล้วจะทำอย่างไรให้คนไทยเข้มแข็ง รู้จักคิดทำอะไรด้วยตัวเอง ท่านเจ้าคุณปยุตตอบว่า เทพองค์นั้นเป็นชาวพุทธที่ดี มีศรัทธามาทำหน้าที่ปกปักรักษาพระพุทธศาสนา มาบำเพ็ญความดี นับเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าชาวพุทธควรจะบำเพ็ญความดีอย่างเทพองค์นี้ ไม่ใช่ว่าเทพจตุคามฯทำความดี แต่คนคอยฉวยโอกาสเอาผลประโยชน์จากการทำความดีของเทพ ชาวพุทธควรเอาเทพที่ดีมาช่วยประกันใจตัวให้มั่นคงไม่หวาดหวั่นพรั่นกลัว และปลุกใจตัวให้มีกำลังใจเข้มแข็งที่จะทำการดีงามให้สำเร็จ ร่วมขบวนกับเทพนั้นในการบำเพ็ญความดีตลอดจนบารมีต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ "ไม่ว่าเรื่องพระพรหม หรือเรื่องจตุคามรามเทพ ผู้รับผิดชอบต่อสังคม เริ่มด้วยผู้บริหารบ้านเมือง จะต้องดูแลให้เกิดโอกาสในการพัฒนาคน เช่น พระพรหมเอราวัณ เราละเลยปล่อยให้คนอยู่กับความหลงหรือการขาดความรู้กันเรื่อยมา แต่ทำอย่างไรจะพัฒนาเขาขึ้นมาได้บ้าง ก็เผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนว่า ท้าวองค์นี้ท่านคือใคร มีอะไรที่ควรรู้บ้าง ในเมื่อเราไม่สามารถหักด้ามพร้าด้วยเข่า เขานับถือลุ่มหลงอยู่ เราก็เอาเป็นจุดบรรจบประสานให้เป็นแนวทางที่เขาจะเดินก้าวหน้าในการพัฒนาตัวต่อไป แต่คนไทย ท่านผู้ปกครอง ไม่เอาเรื่องเลย ไม่มองช่องทางที่จะพัฒนามนุษย์อันนี้ ก็เลยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรทั้งนั้น" ท่านเจ้าคุณปยุตตอบ ผู้มาเยี่ยมกล่าวว่า ถ้าไม่หาความรู้ความเข้าใจกันอย่างที่ว่านั้น ก็ได้แต่ตื่นตูมตามกระแสเรื่อยไป ก็สมที่ว่าเป็นโรคเส้นตื้น พระพรหมคุณาภรณ์กล่าวเสริมว่า กระแสจตุคามฯไม่ใช่แค่โรคเส้นตื้นเฉยๆ แต่กินลึกเลย แล้วก็หนักหนามาก ฟ้องสภาพสังคม และบ่งบอกปัญหาคุณภาพของคน อาการนี้ ด้านหนึ่งคือแสดงอิทธิพลของระบบธุรกิจ ว่าสังคมไทยนี่ ธุรกิจเฟื่องดีนัก คนอยู่ใต้ครอบงำของระบบธุรกิจ มุ่งหาแต่ผลประโยชน์ขนาดหนัก มองหาแต่เงิน แม้แต่เรื่องทางด้านจิตใจ ก็ไม่เว้น ยังเอามาใช้เป็นช่องทางหรือเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ อีกด้านหนึ่ง อาการนี้แสดงว่าคนไทยเวลานี้ตื่นตูมง่ายมาก ปั่นกระแสขึ้นดีนัก เลยสอดรับกับข้อแรกที่ว่าไปแล้ว คือเป็นเหยื่อที่ดีของธุรกิจ ทำไมจึงตื่นตูมง่าย ก็เพราะพื้นฐานของตัวชอบหวังผลจากการดลบันดาล ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วย คิดแต่จะพึ่งอำนาจภายนอกมาทำให้ อย่างที่ว่า "หวังลาภลอย นอนคอยโชค" แล้วระยะยาว คนก็อ่อนแอ ไม่มีความเพียรพยายามที่จะทำการให้เกิดผลสำเร็จด้วยเรี่ยวแรงของตนเอง ได้แต่เป็นนักพึ่งพา ถ้าขมวดให้สั้นก็คือวงจรของลัทธิบริโภคนิยม กับลัทธิหวังผลดลบันดาล มาบรรจบประสานกัน แล้วส่งผลเป็นเหตุปัจจัยหนุนกัน ให้ชีวิตและสังคมนี้หมุนกลิ้ง หรือลอยเคว้งคว้างต่อไปผู้ถามถามอีกว่า นิตยสาร "มติชนรายสัปดาห์" ขึ้นปกว่า จตุคามฯทำให้เงินสะพัดกว่า 22,000 ล้านบาท จะหยุดกระแสนี้ได้อย่างไร ท่านเจ้าคุณปยุตตอบว่า รู้อยู่ว่าสังคมนี้กำลังต้องการเงินทองมาก เป็นสังคมธุรกิจ ประสานกับบริโภคนิยม เห็นแก่การเสพบริโภค ระบาดเข้ามากระทั่งในวัด กระแสใหญ่เป็นอย่างนี้ ต้องพยายามดึงกระแสใหญ่เข้ามาหาหลัก "ในท่ามกลางสภาพสังคมอย่างนั้น พระพุทธเจ้าทรงใช้ความนิยมหรือกระแสที่เกิดขึ้น เป็นจุดปรารภที่จะสอนให้คนที่มีบทบาทสำคัญในสังคมนั้น หันมาใฝ่ธรรม และนำธรรมไปปฏิบัติดังเช่นเศรษฐีก็ควรจะเอาทรัพย์มาทำประโยชน์ ส่งเสริมธรรม เกื้อกูลสังคม รวมทั้งพัฒนาชีวิตของตนเอง ไม่ลุ่มหลงมัวเมาในการเสพบริโภคหรือใช้อิทธิพลจากทรัพย์และอำนาจไปข่มเหงคนอื่น มาถึงสมัยนี้ก็เหมือนกัน ปัจจุบัน สังคมเป็นอย่างนี้ก็ต้องรู้เข้าใจว่าทำอย่างไรจะให้ธรรมเกิดประโยชน์แก่คนที่ต่างๆ กันได้" พระพรหมคุณาภรณ์กล่าว
ที่มา - มติชนอ่านเรื่องประกอบ - ปาฏิหาริย์จตุคามกับทรรศนะของพระพุทธเจ้า เป็นต้น

วันจันทร์ ที่ 14 พฤษภาคม 2550

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Google