วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กองทัพกู้ชาติไทยใหญ่จัดงานวันชาติปีที่64



เว็บไซต์ Khonkhurtai รายงานว่า ทหารกองทัพกู้ชาติไทยใหญ่สวนสนามเนื่องในวันครบรอบปีที่ 64 ที่กลุ่มเจ้าฟ้าที่ปกครองเมืองต่างๆ ในรัฐฉานชาติไทยใหญ่ รวมตัวเพื่อเรียกร้องเอกราชจากพม่า และกำหนดธงชาติไทยใหญ่ บนดอยไตแลง ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการทหารสูงสุดกองทัพกู้ชาติไทยใหญ่ ตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ พร้อมประชาชนชาวไทยใหญ่ตามแนวชายแดนกว่า 1,000 คน ร่วมงาน



ด้าน พล.ท.ยอดศึก ประธานสภากอบกู้รัฐฉาน หรือ RCSS เรียกร้องให้ประชาชนชาวไทยใหญ่ และกลุ่มชาติพันธุ์รวมตัวเป็นกลุ่มเดียวกัน เพื่อทวงคืนเอกราชจากพม่า แม้ว่าพม่าจะผ่านการเลือกตั้งครั้งใหญ่ แต่เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ได้รับการยอมรับ เนื่องจากไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง พร้อมเชื่อว่าอีก 1-2 เดือนนี้จะมีข่าวดีการรวมกลุ่มของกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า

ขณะที่กลุ่มมอญใหญ่ หรือ NMSP ซึ่งมีพื้นที่เขตอิทธิพลในฝั่งตรงข้ามอำเภอสังขละบุรี จังหวัญกาญจนบุรี ระบุ แม้จะยังไม่ทำสัญญาร่วมกลุ่ม แต่กลุ่มชาติพันธุ์ได้มีการช่วยเหลือทางทหารเบื้องต้นแล้ว ล่าสุดมีรายงานว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่าได้นัดประชุมครั้งใหญ่ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่ฐานที่มั่นทางทหารแห่งหนึ่งในแนวชายแดนไทย- พม่า เพื่อร่างข้อกำหนดและนโยบายที่จะนำใช้ในการร่วมในการรวมกลุ่มซึ่งจะมีในอีก 1-2 เดือนข้างหน้านี้

ทั้งนี้วันที่ 7 เดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ชาวไทใหญ่ตลอดจนชนทุกเชื้อชาติของรัฐฉานถือเป็นวันชาติของพวกเขา โดยเรียกเป็นภาษาไทใหญ่ว่า “วันเชื้อชาติจึ้งไต” หรือ วันชาติรัฐฉาน นั่นเอง ซึ่งหากวันสำคัญนี้มาถึง ชาวรัฐฉานไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็จะหาโอกาสจัดงานเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกถึง บรรพบุรุษ ชาติ และแผ่นดินตัวเอง ในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่ชนชาวรัฐฉานได้มีการเฉลิมฉลองวันชาติในโอกาสครบ 64 ปี

"วันเชื้อชาติจึ้งไต" หรือ วันชาติรัฐฉาน เริ่มต้นขึ้นในระหว่างการประชุมของบรรดาเจ้าฟ้าที่ปกครองหัวเมืองต่างๆ พร้อมด้วยตัวแทนประชาชนในรัฐฉานที่เมืองปางโหลง ภาคใต้ของรัฐฉาน เมื่อวันที่ 3 - 12 กุมภาพันธ์ 2490

ในการประชุมนั้น เป็นการหารือกันถึงความต้องการที่จะเรียกร้องเอกราชคืนจากอังกฤษ แต่ระหว่างนั้นในวันที่ 7 ก.พ. 2490 อังกฤษได้ส่งโทรสารถึงผู้เข้าร่วมประชุมว่า “หาก รัฐฉานมีข้อเรียกร้องหรือมีข้อเสนออันใดก็ขอให้จัดการประชุมอย่างเป็นทางการ ที่เมืองตองจี ที่ซึ่งมีข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษเป็นประธาน”

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีการเรียกประชุมฉุกเฉินขึ้นโดยได้ชี้แจงถึงข้อเสนอของอังกฤษดั งกล่าว ซึ่งทุกฝ่ายต่างไม่เห็นด้วย เนื่องจากเห็นว่าไม่มีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง โดยผู้เข้าร่วมประชุมได้มีมติร่วมกันว่า "รัฐฉานจะไม่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษอีกต่อไป" จากนั้นได้ร่วมกันออกแถลงการณ์จัดตั้งสภาสหพันธรัฐภายในวันนั้น (วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2490) โดยมีตัวแทนเจ้าฟ้า 7 ท่าน และตัวแทนประชาชนอีก 7 คน เป็นผู้ลงนาม

ในวันเดียวกัน ขุนปานจิ่ง เจ้าฟ้าชาวปะหล่อง ซึ่งปกครองเมืองน้ำสั่น ทางภาคเหนือรัฐฉาน และเป็นประธานสภาสหพันธรัฐฉานขณะนั้น ได้กำหนดผืนธงสีเหลือง เขียว แดง และวงกลมสีขาว พร้อมด้วยเพลงชาติที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นของชาวรัฐฉานทั้งมวล และได้กำหนดเอาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เป็นวันชาติรัฐฉาน

หลังจากนายพลอองซาน (บิดานางอองซาน ซูจี) ทราบข่าวการประชุมของบรรดาเจ้าฟ้าของรัฐฉานในวันที่ 7 ก.พ. 2490 ที่มีมติว่า "รัฐฉานจะไม่ขออยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษอีกต่อไป" นั้น ทำให้เขาซึ่งกำลังอยู่ระหว่างเดินทางกลับจากอังกฤษได้แสดงความยินดีด้วย หลังจากที่เขาเดินทางกลับถึงพม่า ในวันที่ 8 ก.พ. 2490 ได้เดินทางไปร่วมประชุมกับบรรดาเจ้าฟ้าไทใหญ่ที่เมืองปางโหลงทันที ทั้งได้กล่าวในที่ประชุมว่า ทางอังกฤษพร้อมที่จะให้เอกราชแก่พม่าและรัฐต่างๆ ภายในปี 2491 แต่ทว่า อังกฤษเกรงว่าจะเกิดปัญหาในการปกครอง ด้วยเหตุนี้ เขาจึงได้เรียกร้องให้ชนชาติรัฐฉานและชนชาติรัฐต่างๆ ร่วมเป็นแรงสนับสนุนด้วย

ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ประชุมได้ก่อตั้งสภาสหพันธรัฐเทือกเขา (Supreme Council of the United Hill Peoples - SCOUHP) ขึ้น มีสมาชิก 18 คน จากไทใหญ่, คะฉิ่น, ฉิ่น ฝ่ายละ 6 คน

จากนั้นในวันที่ 12 ก.พ. 2490 นายพลอองซาน กับเจ้าฟ้ารัฐฉาน ในนามสภาสหพันธรัฐเทือกเขา ได้ทำสัญญาเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษร่วมกันขึ้น โดยเรียกว่า “สนธิสัญญาปางโหลง” ซึ่งข้อสัญญานี้ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญหลังการประชุมแล้วเสร็จ โดยมีใจความว่า "หากได้รับเอราชจากอังกฤษแล้ว จะปกครองร่วมกัน 10 ปี จากนั้นทุกรัฐมีสิทธิแยกปกครองตนเอง ด้วยระบอบประชาธิปไตยและสิทธิเท่าเทียม และหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตาม ถือว่าเป็นผู้ละเมิดกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ"

ทว่า ยังไม่ทันได้รับเอกราชจากอังกฤษ นายพลอองซาน ผู้ร่วมลงนามสนธิสัญญาฝ่ายพม่ากลับถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2490 และหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2491 ความหวังที่รัฐฉาน และรัฐต่างๆ ที่ร่วมลงนามจะแยกออกปกครองตนเอง หลังปกครองร่วมกันครบ 10 ปีก็ริบหรี่ ซึ่งพม่าได้ส่งกำลังเข้าครอบครองทั่วทุกรัฐจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันรัฐบาลทหารพม่ารวมถึงชนชาติสหภาพพม่าจะยังคงยึดถือเอาวันที่ 12 ก.พ. ของทุกปี อันเป็นวันแห่งการรวมพลังเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษที่มีต้นกำเนิดมาจากการประชุมของเ จ้าฟ้ารัฐฉาน ในวันที่ 7 ก.พ.1490 เป็นวัน ..สหภาพพม่า.. แต่กระนั้น ความเป็นชาติสหภาพอันหมายถึงการมีสิทธิเท่าเทียมดูเหมือนจะยังไม่ปรากฎให้เห็น

กองกำลังไทใหญ่SSAซุ่มโจมตีทหารพม่าในรัฐฉานต่อเนื่อง

มีรายงานจากแหล่งข่าวด้วยว่า ตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา ในพื้นที่เมืองกุ๋นฮิง เมืองกาลิ เมืองโขหลำ รัฐฉานภาคกลาง ได้เกิดเหตุกองกำลังไทใหญ่ SSA กลุ่มพล.ท.เจ้ายอดศึก ซุ่มโจมตีทหารพม่าอย่างต่อเนื่อง โดยเหตุเกิดขึ้นหลังจากกองทัพพม่าประกาศเตรียมตั้งกองทัพภาคแห่งใหม่ ซึ่งมีกำหนดใช้พื้นที่เมืองกาลิเป็นที่ตั้งกองบัญชาการ

ชาวเมืองกาลิคนหนึ่งเปิดเผยว่า ในช่วงนี้เกิดการปะทะกันระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังไทใหญ่ SSA บ่อยครั้ง อย่างน้อยอาทิตย์ 2-3 ครั้ง โดยการปะทะเกิดจากการซุ่มโจมตีของกองกำลังไทใหญ่ SSA ซึ่งทางฝ่ายกองกำลังไทใหญ่ SSA สามารถสังหารทหารพม่าไปแล้วหลายราย

ขณะเดียวกันมีรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา มีนายทหารพม่าคนหนึ่งในพื้นที่เมืองกุ๋นฮิงหนีทัพ ซึ่งทราบชื่อต่อมาคือ ส.อ.ชิตเผ่ เป็นนายทหารประจำกองร้อยคุ้มกันบก.ควบคุมยุทธการประจำเมืองกุ๋นฮิง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ทราบเขาได้หลบหนีไปร่วมกองกำลังกลุ่มใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Google