วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

งานปอยส่างลอง(บวชเณร)ที่สมุทรสาคร

เนื่องด้วยทางขุมชนไทใหญ่มหาชัย ร่วมกับวัดเทพนรรัตน์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะจัดงานประเพณีปอยส่างลอง ในอำเภอเมือง จังวัดสมุทรสาคร โดยจะนำลูกหลานบวชเป็นสามเณรทางพุธศาสนาและขอเชิญพี่น้องไตทุกท่านทุก พื้นที่นำลูกหลานท่านาร่วมบวช หรือเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสาน ประเพณีอันดีงามของชาวไตหรือชาวไทใหญ่ ระหว่างวันที่ 01 – 03 เมษายน 2554 ณ วัดเทพนรรัตน์ ตำบลเทพนรรัตน์อำเภอเมือง จังวัดสมุทรสาคร




งานประเพณีปอยส่างลองที่จะจัดขึันครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในจังหวัดสมุทรสาคร จะมีทั้งส่างลอง (สำหรับบวชเป็นสามเณร) และจางลอง (สำหรับบวชเป็นพระภิกษุ) ซึ่งขณะนี้ทางคณะกรรมการได้มีการเตรียมงานกันอย่างคึกคัก โดยองค์ประกอบของงานฯ ถูกกำหนดเน้นตามแบบประเพณีดั้งเดิมของชาวไทใหญ่ ทั้งการแต่งกาย อาหารการกิน ตลอดจนที่พักส่างลอง สำหรับการจัดงานได้รับการสนับสนุนจาก เจ้าอาวาสวัดเทพนรรัต กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนพ่อแม่ญาติพี่น้องของผู้ที่จะร่วมบวชเข้าเป็นส่างลองและจางลอง โดยตลอดงาน 3 วัน จะมีการแสดงมหรสพหลายอย่าง รวมทั้งการแสดงวงดนตรี จ้าดไต(ลิเกไทใหญ) และการฟ้อนรำต่างๆ แบบไทใหญ่ที่หาชมได้ยาก ให้ชมฟรี ตลอดงาน
ถ้าหากมีลูกหลานของท่านจะมาร่วมบวชด้วย โปรดติดต่อสอบถามมาได้ที่ ---หลวงพี่อ้วน โทร. 089-1442968, ป้าโหย่ง 089-0560829 และอาจารย์วิฑูรย์ สุนันดิ์ 085-2917546 ก่อนวันที่ 20 มีนาคม 2554

โดยวันศุกร์ที่ 1 เมษายน “วันรับส่างลอง หรือ เอาส่างลอง" ทำพิธีโกนผม วันเสาร์ที่ 2 เมษายน “วันรับแขก” วันแห่ครัวหลู่ - ขบวนแห่ส่างลอง และเครื่องไทยทาน(ขบวนแห่ประเพณีบวชลูกแก้วที่เก่าแก่และงดงามของชาวไทใหญ่) วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน “วันบวช" พิธีบรรพชาส่างลอง ณ.วัดเทพนรรัตน์ ตำบลเทพนรรัตน์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

คำว่า "ส่างลอง" เป็นภาษาไทยใหญ่ เกิดจากคำผสมระหว่าง "ส่าง" แปลว่า สามเณร และคำว่า "ลอง" แปลว่า ผู้เป็นใหญ่เหนือมนุษย์หรือเทพบุตร หรือผู้เป็นหน่อเนื้อของผู้วิเศษ คำเต็มคือ "อลอง" เมื่อผสมกับคำว่า "ส่าง" เสียงอะที่อยู่หน้ากร่อนหายไป สันนิษฐานว่าเป็นภาษาพม่าที่นำมาใช้ภาษาไทยใหญ่

อีกนัยหนึ่งคำว่า "ส่างลอง" เทียบได้กับคำว่า "ลูกแก้ว" ในภาษาถิ่นล้านนา ประเพณีทำบุญส่างลอง เรียกว่า ปอยส่างลอง คำว่า "ปอย" คือ งานอันเป็นมงคลยิ่งใหญ่ในการบรรพชา หรือ บวชลูกแก้วของชาวล้านนา

ส่วนประวัติความเป็นมามีกล่าวไว้หลายเรื่อง เรื่องหนึ่งคือ ในสมัยอดีตกาล ณ เมืองหนึ่งมีพระมหากษัตริย์ มีโอรสทรงพระนามว่า "จิตตะมังชา" ครั้นโอรสมีอายุได้ 10 ชันษา พระบิดาก็มุ่งหวังจะให้โอรสได้ผนวชเป็นสามเณร แต่พระองค์ไม่ทรงบังคับแต่อย่างใด ความนี้ล่วงรู้ไปถึง "จิตตมังชาโอรส" จึงได้ตัดสินใจขอผนวชเอง ทำให้พระราชบิดาทรงปลาบปลื้มมาก รับสั่งให้มีการฉลองอย่างยิ่งใหญ่ตลอด 7 วัน 7 คืน ได้แห่ส่างลองจิตตะมังไปรอบเมือง และไปหาพระพุทธเจ้า

นอกจากนี้ชาวไทใหญ่ยังเชื่อว่า การจัดงาน "ปอยส่างลอง" จะได้อานิสงส์มาก ถ้าได้บวชลูกตนเองเป็นสามเณรได้อานิสงส์ 7 กัลป์ถ้าบวชลูกคนอื่นได้อานิสงส์ 4 กัลป์ถ้าได้อุปสมบทลูกตัวเองเป็นพระภิกษุได้อานิสงส์ถึง 12 กัลป์ อุปสมบทลูกคนอื่นเป็นพระภิกษุได้อานิสงส์ 8 กัลป์ ดังนั้นชาวไทยใหญ่ทั้งหลายไม่ว่าจะยากดีมีจน ก็ต้องพยายามจัดงานปอยส่างลองให้ได้

หมอกมูนใหม่ รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Google