วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ส่อยืดยาวเปิดประมูล3จี(3G)ใครได้ผลประโยชน์แนะชะลอ

เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2552 ได้มีโอกาสไปนั่งฟังการเสวนาเรื่อง “ 3G ความถี่แสนล้าน : ประโยชน์ชาติหรือประโยชน์ใคร ?” ที่รัฐสภา ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค คณะกรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

มีบุคคลที่เกี่ยวข้องไปร่วมอย่างพอเพียง โดยเฉพาะด้านไอทีอาทิ นายเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) นายอนันต์ วรธิติพงศ์ ส.ว.สรรหา รองประธานคณะกรรมการการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การสื่อสารและการคมนาคม วุฒิสภา นายธัช บุษฏีกานต์ รองหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกฎหมาย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น

และคนไอทีก็มีเสียงเดียวกันว่า ควรเร่งรัดให้มีการดำเนินการเรื่อง 3 จีอย่างเร่งด่วน ซึ่งรัฐบาลก็ได้ประกาศนโยบายว่าจะส่งเสริมด้านการสื่อสารและสร้างความเท่าเทียมกัน แต่ที่ผ่านไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ ซึ่งตนเสียดายโอกาสนักลงทุนและเสียดายที่เงินที่จะเข้าสู่รัฐกว่า 300,000 ล้านบาท โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินเข้าสู่รัฐ

ขณะที่อีกฝากนักกฎหมายและนักคุ้มครองผู้บริโภคต่างก็มองว่าควรจะชลอไว้ก่อนเพราะยังไม่มีความชัดเจนหลายด้านและการเตรียมควรพร้อมอย่าง น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มองว่า จะต้องมีการติดตามตรวจสอบ และจำเป็นต้องมีกลไกติดตามการดำเนินการอย่างชัดเจน โดยกระบวนการทั้งหมดควรให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วม เพื่อเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

และนายสุขุม ชื่นมะนา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท กสท จำกัด (มหาชน) มองว่า ยังมีปัญหาเรื่องอื่น ๆ อีก ทางสหภาพเห็นว่า รัฐควรชะลอการเรื่องนี้ออกไปก่อนจนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข ทั้งเรื่องข้อกฎหมาย สังคม และเศรษฐกิจ เพราะคลื่นความถี่ไม่ใช่ของคณะกทช.เพียง 3 คนแต่เป็นของประชาชน จึงขอให้ดำเนินการอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม

ขณะที่นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ บอกว่า ส่วนตัวไม่ได้คัดค้านโครงการ 3 จี เพราะเห็นว่ามีประโยชน์ต่อประชาชน แต่ขอตั้งคำถามว่า ทำไมต้องมีการเร่งดำเนินการ ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจน ในเรื่องของอำนาจหน้าที่ของ กทช. ควรมีการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน

ขณะที่นายเศรษฐพร กล่าวต่อท้ายว่า แม้นว่าจะการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในวันที่ 12 พ.ย.แล้วไม่ใช่ว่าจะดำเนินการประมูลทันทีหรือภายในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งจะต้องนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณากำหนดวันประมูลอีกทีหนึ่ง

จับจุดการพูดของนายเศรษฐพรและนายเดชอุดมก็พออนุมานได้ว่า การเปิดประมูลคงไม่เกิดขึ้นภายในปีนี้อย่างแน่นอน เพราะหาก กทช.จะดำเนินการเปิดประมูลจนกระทั้งได้ตัวตนผู้ได้รับประมูลก็ตามก็คงไม่ยุติเพียงเท่านี้ คงจะต้องดึงเรื่องไปสู่ศาลอย่างแน่นอนทั้งศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองอย่างที่เห็นๆกันอยู่

แต่ก็มีจุดที่น่ายินดีก็คือว่าเรื่อง 3 จีได้หยิบยกขึ้นสู่เวทีสาธารณะมากขึ้นแทบจะทุกวันเลยก็ว่าได้อย่างเช่นวันที่ 30 ต.ค.หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นก็จะเสวนาเรื่องนี้โดยได้เชิญผู้บริหารทั้งทรู ดีเทค เอไอเอส นักกฎหมายผู้เกี่ยวข้องมาร่วมแสดงความเห็น ไปพร้อมๆ กับการพิจารณาร่างกฎหมายคลื่นความถี่ในชั้นกมธ.สภา

ขณะที่ฝ่ายปฏิบัติการก็ดำเนินการไปอย่างเช่น ทีโอที ได้ติดตั้งสถานีสัญญาณโครงข่ายโทรศัพท์ระบบ 3Gเสร็จแล้ว 514 สถานี จาก 548แห่ง พร้อมเปิดบริการ 3 ธันวาคมนี้ แต่ยังไม่กำหนดค่าบริการ

หากทุกฝ่ายดำเนินการโดยตั้งอยู่บนฐานของกุศลจิต ดำเนินธุรกิจด้วยหลักของสัมมาอาชีวะ ธุรกิจสีขาว ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ก็เชื่อแนะว่าจะไปตามที่นายเศรษฐพรกล่าวไว้ในการเสวนาของวุฒิสภาว่า

"ยืนยันว่า กทช. จะต้องดำเนินการทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม นอกจากนี้ หากมีรายได้จากการประมูลก็จะส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินทั้งหมด จึงเชื่อว่าการประมูลในครั้งนี้จะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด" กทช.ผู้นี้กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Google