วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552

หลักมิตรแท้มิตรเทียมป๋าเปรมเปิดใจถึงเพื่อนบิ๊กจิ๋ว

ไม่บ่อยครั้งนักที่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ จะให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวยือยาว และวันที่ 15 ต.ค ที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดี ก็เป็นอีกวันหนึ่ง ที่ได้เปิดใจถึงกรณีที่พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวพาดพิงถึง ซึ่งพล.อ.เปรมใช้คำว่า "เพื่อน" หลายคำและใช้คำฉันท์เพื่อนดังนี้

" จิ๋วกับผม เป็นเพื่อนรักกันมานานหลายปีแล้ว และต่างคนก็ต่างทำงานให้กันและกันมา ดังนั้นความเป็นเพื่อนระหว่าง ผมกับจิ๋วคงยังอยู่ ฉะนั้นที่มีคนพูดว่า ผมก็ไม่รู้ว่าใครพูดซึ่งก็ไม่ทราบ อาจจะเป็นจิ๋วพูดเองก็ได้ ว่าเขาไปลาบวช แล้วผมก็ไม่ให้ลา ซึ่งอันนี้มันไม่ใช่เพื่อนแล้วหละ เมื่อเพื่อนเขาจะไปลาบวชก็จะต้องให้อโหสิกรรม ซึ่งเรื่องจริงๆ ผมไม่ทราบ ว่าเขาจะบวชจนบัดนี้ผมยังไม่รู้ว่า เขาบวชที่ไหนเมื่อไหร่

ดังนั้นผมขอจะเรียนความจริงให้ทราบว่าเรื่องมันเป็นแบบนี้ ส่วนเรื่องที่มีคนไปเขียนลงในหนังสือพิมพ์ในทำนองว่า ผมไปว่าเขาเป็นคนทรยศต่อชาติ ซึ่งอันนี้มันก็ไม่ถูกต้อง แต่สิ่งที่ถูกต้องคือ วันนั้นก่อนที่จิ๋วจะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยผมก็ให้คนไปบอกเขาว่าจะทำอะไรก็ขอให้คิดให้รอบคอบ ไตร่ตรองให้รอบคอบ ซึ่งผมใช้คำว่าไตร่ตรองให้รอบคอบ ไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็นการกระทำที่เป็นการทรยศต่อชาติ นี่เป็นข้อความที่ผมสื่อไป ไปถึงจิ๋วในตอนเช้าวันนั้น ซึ่งผู้สื่อข่าวนี้ เขาก็มายืนยันว่าเขาสื่ออย่างที่ผมพูด เพราะว่าเขาจดที่ผมขอให้เขาสื่อ เพราะฉะนั้น ผมไม่ได้กล่าวหาว่า เขาเป็นคนไม่ดีทรยศต่อชาติบ้านเมือง มันไม่ใช่"

พล.อ.เปรม กล่าวอีกว่า มีเรื่องที่เกี่ยวกับจิ๋ว ที่สำคัญมีอยู่แค่นี้ ผมขอย้ำว่า ความเป็นเพื่อนมันยังเป็นอยู่ตลอดไป คุณ(สื่อมวลชน) เข้าใจของความเป็นเพื่อนแค่ไหน ก็โปรดคิดเอาเอง เราเป็นเพื่อนกัน เคยทำงานด้วยกัน งานสำคัญๆ ก็เคยทำด้วยกัน และก็จบจากสถาบันเดียวกัน ที่เคยให้คำสัตย์ปฏิญาณเหมือนกันด้วย เมื่อเพื่อนจะทำอะไรผมก็เตือน เพราะผมคิดว่ามีสิทธิ์ที่จะเตือนได้ ก็เตือนเขาไปด้วยความเป็นเพื่อน ด้วยความปรารถนาดี ไม่ได้มีความต้องการที่ตำหนิจิ๋วเลย ซึ่งวันนี้ผมอยากพูดแค่นี้

เมื่อถามว่า ในฐานะเพื่อน ผิดหวังกับการเลือกทางเดินของพล.อ.ชวลิต หรือไม่ พล.อ.เปรม กล่าวว่า เพื่อนก็คือเพื่อน เขาทำอะไรผิดหรือถูก ผมก็ชี้ไม่ได้ว่า เขาทำผิดหรือทำถูกซึ่งผมไม่ได้เป็นคนตัดสิน แต่ความเป็นเพื่อนก็ต้องเตือนกัน ถ้าเห็นว่าทำอะไรไม่ดี

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา พล.อ.ชวลิต ได้เป็นผู้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในประเด็นนี้ด้วยตัวเอง โดยหลังจากผู้สื่อข่าวถามพล.อ.ชวลิตว่าจะเข้าไปมีบทบาทในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างพล.อ.เปรม กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีใช่หรือไม่

พล.อ.ชวลิตได้ตอบว่า "ที่บ้านสี่เสาร์ผมยังไม่มีโอกาสเข้าไปกราบท่านเลย จะไปขออโหสิกรรมเมื่อครั้งที่ผมบวชก็ยังไม่ให้เข้าเลย ซึ่งอาจจะเข้าใจผิดกันในบางเรื่องแต่ก็ต้องเข้าใจท่าน ท่านเป็นผู้ใหญ่เราเป็นเด็กสังคมไทยต้องให้ความเคารพซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ขนาดคนเอาปืนมาจะยิงกันตายยังคุยกันได้ นี่ก็ไม่ได้ถึงขนาดนั้น แต่อาจจะต้องใช้เวลามากบ้างน้อยบ้าง และเมื่อวันนี้จำเป็นต้องไปกราบไปพบท่านก็ต้องไป ให้ความรักความเคารพท่านเหมือนเดิม"

เมื่อบุคคลทั้งสองเป็นเพื่อนกันแต่จะเป็นเพื่อนลักษณะใดนั้นพระพุทธศาสนามีหลักษณะที่จะพิจารณาคือมิตรแท้และมิตรเทียมฝ่ายละ 4 ประการดังนี้

คำว่า มิตร มีรากศัพท์คำเดียวกับคำว่า เมตตา ซึ่งมีความหมายว่า ความรักใคร่ห่วงใยปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข เพราะฉะนั้นคำว่า มิตรจึงหมายถึงผู้ที่รักใคร่ชอบพอกัน ปรารถนาดีต่อกัน กล่าวคือมีความเมตตาทั้ง ทางกาย วาจา ใจ ต่อกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง คำว่ามิตรนั้น มักมีคำที่ใช้แทนกันหลายคำเช่น สหาย แปลว่า ผู้ไปด้วยกันมีความคิดเห็นเหมือนกัน สขา แปลว่า เพื่อน คือผู้คบกันคุ้นเคยสนิทสนม มิตรมี 2 จำพวกใหญ่คือ มิตรแท้ และมิตรเทียม

มิตรแท้ 4
มิตรแท้มี 4 ประเภท คือ
1.มิตรมีอุปการะ ได้แก่ เพื่อนที่มีบุญคุณ มีลักษณะเป็นผู้ใหญ่คอยคุ้มครองป้องกันเพื่อนของตน ทั้งเป็นที่พึ่งของเพื่อนได้ มีลักษณะโดยสรุป 4 ประการ ดังนี้คือ
- ป้องกันเพื่อนผู้ประมาท หมายถึง มิตรที่ช่วยป้องกันชีวิตชื่อเสียงและเกียรติยศของเพื่อน
- ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนผู้ประมาท หมายถึง มิตรที่คอยแนะนำห้ามปรามเพื่อนเมื่อเห็นเพื่อนใช้จ่ายทรัพย์สมบัติไปในทางอบายมุขหรือลงทุนที่มีการเสี่ยงเกินไป
- เมื่อมีภัยเป็นที่พึ่งพำนักได้ หมายถึง มิตรที่คอยอุปการะช่วยเหลือเมื่อเพื่อนตกทุกข์ เมื่อเพื่อนมีภัยก็ให้การคุ้มครองป้องกัน
- เมื่อมีธุระช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก หมายถึง มิตรที่ช่วยเหลือเพื่อน เมื่อเพื่อนมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ออกปากขอยืมเงิน ก็ตอบสนองด้วยดี เสนอให้ยืมเกินกว่าที่ขอยืม ไม่แสดงความโลภออกมา
2.มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ได้แก่ เพื่อนสนิทเหมือนญาติ ไว้วางใจกัน คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีลักษณะโดยสรุป 4 ประการ
- ขยายความลับของตนแก่เพื่อน หมายถึง ต่างฝ่ายต่างเผยความลับของตนแก่เพื่อน ถ้าความลับนั้นมีจุดอ่อนหรือปมด้อยก็ช่วยกันแก่ไข และเป็นการให้ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน
- ปิดความลับของเพื่อนมิให้แพร่หลาย หมายถึง มิตรที่มีความจริงใจต่อเพื่อนรักษาน้ำใจซึ่งกันและเอาไว้โดยการไม่เปิดเผยความลับของเพื่อนไม่ให้ผู้อื่นรู้
- ไม่ละทิ้งยามวิบัติหมายถึง เมื่อเวลาที่เพื่อนตกทุกข์ได้ยากก็คอยช่วยเหลือไม่ละทิ้ง
- แม้ชีวิตก็อาจสละแทนได้ หมายถึง เมื่อเวลาที่เพื่อนตกอยู่ในอันตราย ก็เข้าช่วยเหลือถึงแม้ตัวเองจะต้องเสี่ยงชีวิตก็ตาม
3.มิตรแนะนำประโยชน์ ได้แก่ เพื่อนที่คอยแนะนำแต่ในทางที่ดี มีลักษณะเหมือนครู ลักษณะของเพื่อนเช่นนี้มีอยู่ 4 ประการ คือ
-ห้ามไม่ให้ทำชั่ว หมายถึง เห็นเพื่อนทำความชั่ว เพราะความไม่รู้ หรือความประมาทคึกคะนองก็เข้าห้ามปรามแสดงถึงเหตุผล ให้เพื่อนมี หิริ คือ ความรังเกียจต่อความชั่ว และ โอตตัปปะ ความเกรงกลัวผลของความชั่ว
-แนะนำให้ทำแต่ความดี หมายถึง นอกจากห้ามไม่ให้เพื่อนทำชั่วแล้ว ยังสอนเพื่อนให้รู้จักคุณความดีสอนให้ประพฤติดี
-ให้ฟังในสิ่งที่ยังไม่เคยทำ หมายถึง ถ้าเพื่อนยังไม่มีความรู้ในทางหลักธรรมคุณความดีกฎแห่งกรรมมากนักก็เล่าให้เพื่อนฟัง
-บอกทางสวรรค์ให้ ทางสวรรค์ หมายถึง ทางไปสู่อนาคตอันสดใส ด้วยการแสวงหาความรู้หรือปัญญา
4.มิตรมีความรักใคร่ ได้แก่ เพื่อนประเภทสหาย มีลักษณะสำคัญ 4 ประการคือ
-ทุกข์ ทุกข์ ด้วย หมายถึง เมื่อเห็นเพื่อนมีความทุกข์ไม่ว่าทางใด ทางกายใจ ก็ให้ความช่วยเหลือในทุกด้าน ปลอบโยน แสดงถึงความเห็นอกเห็นใจ
-สุข สุข ด้วย หมายถึง มิตรที่เห็นเพื่อนมีความสุขไม่ว่าทางกายหรือทางใจก็พลอยยินดีกับเพื่อนด้วย เข้าไปแสดงความยินดีด้วย
-โต้เถียงผู้ที่ติเตียนเพื่อน หมายถึง เมื่อเห็นคนอื่นติเตียนเพื่อนของเรา ไม่ว่าต่อหน้าและลับหลัง ก็ช่วยพูดจาชี้แจงให้เข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อนไม่ให้เพื่อนเสียหาย
-รับรองคนพูดสรรญเสริญเพื่อน หมายถึง เมื่อเห็นคนพูดจาชมเชยเพื่อนก็พูดจาสนับสนุน
มิตรเทียม 4

มิตรเทียม มาจากคำว่า มิตรปฏิรูป ซึ่งอาจมีความหมายว่า คนเทียมเป็นมิตรหรือคนปลอมเป็นมิตร ซึ่งมี 4 ประเภทคือ
1.คนปอกลอก คนประเภทนี้ไม่ใช่มิตรแต่แสดงตัวว่าเป็นมิตร ซึ่งหวังผลประโยชน์จากคนที่คบด้วย ซึ่งมี 4 ประเภทคือ
-คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว คือ คนที่เอาเปรียบ
-เสียน้อย คิดเอาให้มาก คือ เมื่อในกรณีที่ทีการลงทุนจะเสียน้อยแต่พอได้รับประโยชน์หรือผลตอบแทนแล้ว จะรับเอาแต่มาก
-เมื่อมีภัยแก่ตัว จึงรับทำกิจของเพื่อน คือ ตามปกติคนประเภทนี้จะไม่ยอมข่วยเหลือใคร แต่เมื่อตนประสบปัญญาแล้วจึงมาแกล้งแสดงตัวเป็นมิตร
-คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว คือ คนประเภทนี้เป็นคนเห็นแก่ตัวเมื่อคบเพื่อนคนใดแล้วก็จะเห็นแต่ประโยชน์ส่วนเท่านั้น
2.คนดีแต่พูด คนดีแต่พูดไม่ถึงกับใช่คนหลอกลวง แต่เป็นกะล่อน ขอให้ได้พูดพูดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนมากเป็นเรื่องไร้สาระมี 4 ประเภทคือ
-เก็บของล่วงแล้วมาปราศรัย คือ พววกที่คอยเรียกร้องความสนใจ ส่วนใหญ่แล้วจะเอาเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตมาพูด
-อ้างเอาของที่ยังไม่มีมาปราศรัย คือ พวกที่ชอบพูดในเรื่องของอนาคต พูดในทำนองการพยากรณ์ ทำตัวเป็นผู้รอบรู้
-สงเคราะด้วยสิ่งที่หาประโยชน์มิได้ คือ ถ้าช่วยเหลือคนที่คบกันอยู่ก็จะช่วยเหลือแบบเล่น ให้สิ่งที่ไม่มีประโยชน์
-ออกปากพึ่งมิได้ คืด เมื่อเพื่อนต้องการพึ่งเพราะมีความเดือดร้อนบางอย่าง ก็บ่ายเบี่ยงแบ่งรับแบ่งสู้
3.คนหัวประจบ คนหัวประจบเป็นคนที่คอยตามใจเพื่อน ให้เพื่อนเป็นผู้นำส่วนตนนั้นทำตัวเป็นผู้ตาม เพราะหวังผลประโยชน์ไม่ว่าสิ่งใดก็สิ่งหนึ่งคนจำพวกนี้มีอยู่ 4 ประเภทคือ
-จะทำชั่วก็คล้อยตาม คือ เมื่อเห็นเพื่อนทำชั่วก็ไม่ห้ามปราม กลับช่วยสนับสนุน
-จะทำดีก็คลอยตาม คือ เมื่อเพื่อนทำดีก็เห็นด้วยคอยสนับสนุนเอาใจเพื่อน
-ต่อหน้าว่าสรรญเสริญ คือ คอยยกย่องเพื่อนต่อหน้าเพื่อเอาใจเพื่อน
-ลับหลังนินทาเพื่อน คือ เมื่อเพื่อนไม่เห็น ไม่ได้ยิน กลับนินทาว่าร้ายต่างๆ
4.คนชักชวนในทางฉิบหาย คนชักชวนในทางฉิบหาย คบเพื่อนเพื่ออาศัยเพื่อนเป็นเครื่องมือหาความสนุกเพลิดเพลินของตน มีลักษณะ 4 ประการคือ
-ชักชวนดื่มน้ำเมา คือ ชักชวนให้เพื่อนดื่มสุราเมรัยซึ่งเป็นโทษทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
-ชักชวนเที่ยวกลางคืน เช่น เที่ยวตามสถานบริการบันเทิงต่างๆ
-ชักชวนให้มัวเมาในการเล่น คือ เล่นกีฬาหรือเล่นเกมต่างๆที่มีการพนันอยู่ด้วย
-ชักชวนเล่นการพนัน หมายถึง การเล่นการพนันล้วนๆ

เมื่อทราบหลักเช่นนี้แล้วพอจะทำให้ตาสว่างขึ้นมาบ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Google