วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ธรรมพารวย-เงินทองกับธรรมะใช่ว่าจะอยู่ร่วมกันไม่ได้

พิจิตรา บุษย์ปราชญ์ ได้เขียนหนังสือ "ธรรมาพารวยขึ้น" บทที่สี่เรื่อง"เงินทองกับธรรมะใช่ว่าจะอยู่ร่วมกันไม่ได้" เป็นการยกหลักธรรมในนวโกวาทที่ว่าด้วยฆราวาสธรรม ต่อมาพระพรหมคุณาภรณ์ได้เรียบเรียงเพื่อให้เข้าใจง่ายเรียกว่าธรรมนูญชีวิต

นวโกวาทนั้นเป็นชื่อหนังสือที่เป็นพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นหนังสือที่ประมวลหัวข้อธรรมจากพระไตรปิฎกสำหรับสั่งสอนอบรมและศึกษาเล่าเรียนของพระนวกะโดยเฉพาะ ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ง่ายต่อมาใช้เป็นหลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นตรี

หลักธรรมพารวยดังกล่าวโดยเริ่มจากชั้นของการหาและรักษาทรัพย์คือ ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ในปัจจุบัน 4 ประการ คือ

1.อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น เช่นขยันหมั่นเพียร เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในการงานนั้น ประกอบด้วยปัญญาเครื่องสอดส่อง อันเป็นอุบายในการงานนั้น ให้สามารถทำได้สำเร็จ

2.อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาโภคทรัพย์ (ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร โดยชอบธรรม) เขารักษาคุ้มครองโภคทรัพย์เหล่านั้นไว้ได้พร้อมมูล ไม่ให้ถูกลัก หรือทำลายไปโดยภัยต่างๆ

3.กัลยาณมิตตตา คบคนดี ไม่คบคบชั่ว อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจา สนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ซึ่งเป็นผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา

4.สมชีวิตา อยู่อย่างพอเพียง รู้ทางเจริญทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ให้สุรุ่ยสุร่ายฟูมฟายนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า รายได้ของเราจักต้องเหนือรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักต้องไม่เหนือรายได้

อักษรตัวแรกของทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์นี้คือ อุ อา กะ ท่านเรียกว่า คาถาหัวใจเศรษฐี เพื่อเป็นอุบายให้คนปฏิบัติไม่ใช่มัวแต่นั่งสวดหรือเสก

ขั้นที่ 2 คือขั้นของการจัดสรรทรัพย์เป็นส่วนๆหรือเรียกว่าโภควิภาค 4 คือ หรือแบ่งทรัพย์เป็น 4 ส่วนคือ 1 ส่วน ใช้จ่ายเลี้ยงตน เลี้ยงคนที่ควรบำรุงเลี้ยง และทำประโยชน์2 ส่วน ใช้เป็นทุนประกอบการงาน 1 ส่วน เก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น

และขั้นที่ 3 คือขั้นของการใช้จ่ายทรัพย์หรือเรียกว่า โภคาทิยะ 5 ประการคือได้แก่1. ใช้เลี้ยงตัว มารดา บิดา บุตร ภรรยา และคนในปกครองทั้งหลายให้เป็นสุข 2. บำรุงมิตรสหาย และผู้ร่วมกิจการงานให้เป็นสุข 3. ใช้ปกป้องรักษาสวัสดิภาพ ทำตนให้มั่นคงปลอดจากภัยอันตราย ได้แก่ซื้อหาปัจจัย เพื่อการยังชีพคือ ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ยานพาหนะ เป็นต้น

4. ทำพลี คือ การสละเพื่อบำรุงและบูชา 5 อย่าง คือ4.1 ญาติพลี การสงเคราะห์ญาติ 4.2 อติถิพลี การต้อนรับแขก 4.3 ปุพพเปตพลี การทำบุญหรือสักการะอุทิศผู้ล่วงลับ 4.4 ราชพลี การบำรุงราชการด้วยการเสียภาษีอากร เป็นต้น 4.5 เทวตาพลี ถวายเทวดา คือ การทำบุญอุทิศสิ่งที่เคารพบูชาตามความเชื่อถือ

5. อุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ และเหล่าบรรพชิตผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมาในไสยศาสตร์ พิธีกรรม ลัทธิอื่นที่ไม่ใช่หลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนา หรือ ล่อลวงให้หลงไปในอบายภูมิ

ทำให้เกิดความรู้สึกว่าหลักธรรมพารวยนั้นได้ก็เคยเรียนมาตั้งแต่นักธรรมชั้นตรีแล้วและทำไรเราถึงยังไม่รวยหละหว่า แต่ก็ไม่เป็นไรเราไม่รวยแต่เราก็มีพออยู่พอกินแบบพอเพียง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Google