วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

พุทธทายาทไร้น้ำยาศาสนาเสื่อมเหลือเพียงสัญลักษณ์จริงหรือ?

ได้อ่านบทความใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 9 ก.ค. 2552 หน้า 10 หน้า 28 คอลัมน์กฎเมืองกฎหมายเรื่อง"ความเสื่อมของพุทธศาสนาในสังคมไทย" ซึ่งเขียนโดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล เริ่มจากการอ้างอิงผลสำรวจความคิดเห็นในช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาของคนในสังคมไทย ที่มีต่อพุทธศาสนา โดยสรุปพบว่า คนไทยให้ความสนใจต่อพุทธศาสนาลดน้อยลง
เหตุผลมาจากความเป็นวัตถุนิยมมากขึ้น เกิดจากปัญหาปากท้องทางด้านเศรษฐกิจ และผลมาจากความคิดของตะวันตก ทั้งวัตถุนิยม บริโภคนิยม ทุนนิยม แต่กลับไม่มีใครพูดถึงความไร้น้ำยาขององค์กรและผู้สืบทอดพุทธศาสนาเองเลยว่าเป็นปัจจัยหนึ่ง และควรนับว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างมากด้วยต่อการทำให้พุทธศาสนาอยู่ในสถานะที่ทรุดลงแทบทุกลมหายใจ
สมชาย ปรีชาศิลปกุล ได้ฉายภาพของความไร้น้ำยาขององค์กรและผู้สืบทอดพุทธศาสนาที่เป็นฝ่ายติดกับวัตถุเสียเอง ทำให้ไม่สามารถเผชิญกับปัญหาใหม่ๆในปัจจุบันอย่างเช่น การเล่นหุ้น การขายตัวด้วยความสมัครใจเป็นสัมมาอาชีวะหรือไม่ แล้วจะทำอย่างไรให้องค์กรและผู้สืบทอดพุทธศาสนารู้เท่าทันโลก แม้นพระรุ่นใหม่ท่องเน็ตก็ติดแชทใช้ประโยชน์ในทางที่ไร้สาระเสียเป็นส่วนมากเช่น ดูรูปโป๊ จึงได้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบองค์กรและผู้สืบทอดพุทธศาสนาเป็นการด่วน
แม้นว่าจะมีการสำรวจความเห็นกันเป็นประจำเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเช่นนี้ทุกปีแล้ว ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปเสร็จแล้วก็เงียบหายไร้แนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ก็ไม่ทราบว่าบทความเช่นนี้จะถึงหูผู้ที่ทำหน้าที่องค์กรและผู้สืบทอดพุทธศาสนาโดยตรงหรือไม่ เพราะว่าค้นหาบทความนี้บทโลกอินเตอร์เน็ตก็ยากที่จะเจอแล้ว
ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับความเห็นในบทความนี้ เพราะมีความรู้สึกว่า องค์กรและผู้สืบทอดพุทธศาสนาควรทำหน้าที่มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ แท้ที่จะนั่งรอคอยแก้ปัญหาอยู่แต่ในวัด ควรที่จะออกนอกวัดบ้าง
นอกจากนี้องค์กรและผู้สืบทอดพุทธศาสนาเป็นฝ่ายที่ยึดติดกับวัตถุเสียเอง มุ่งสร้างวัตถุมากกว่าการสร้างคุณธรรมในสังคม แข่งกันสร้างโบสถ์ วิหาร ใหญ่โต เหมือนกับวิมาน เสร็จแล้วกลับใช้เป็นสิ่งสร้างคุณธรรมน้อยมาก ไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมได้ บ้างวัดก็เป็นวัดร้างหลังจากผู้ที่ชักชวนสร้างเสียชีวิตไป สมชาย ปรีชาศิลปกุลจึงตั้งคำถามว่า "จึงไม่แปลกที่พุทธศาสนาจะไม่เป็นที่สนใจ ก็ในเมื่อไม่สามารถให้คำตอบที่มีความหมายแก่ผู้คนได้แล้วจะนับถือไปเพื่ออะไร"
ขณะเดียวกัน พันเอก(พิเศษ)นวม สงวนทรัพย์ ได้เขียนหนังสือเรื่อง "ความเสื่อมของพระพุทธศาสนาในอินเดีย" ยกพระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงมูลเหตุที่ทำให้ พระศาสนาเสื่อม เพราะพระสัทธรรมเลอะเลือน ซึ่งมีข้อหนึ่งที่น่าจะเห็นภาพในปัจจุบันคือ พวกภิกษุชั้นเถระ ทำการสะสมบริกขาร ประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา เป็นผู้นำในทางทราม ไม่เหลียวแลในกิจแห่งวิเวก ไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้ง ในสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง
ผู้บวชภายหลัง ได้เห็นพวกเถระ เหล่านั้น ทำแบบแผน เช่นนั้นไว้ ก็ถือเอา เป็นแบบอย่าง.และยังทรงย้ำเสมอๆว่า พระพุทธศาสนา จะเสื่อมสูญจนหายไปนั้น มีเหตุที่สำคัญที่สุด เกิดจากพุทธบริษัท 4 ทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา จึงเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัททุกคน ต้องร่วมกันรับผิดชอบ ในการสืบทอดพระพุทธศาสนานี้ เพื่อให้ลูกหลาน ได้ยึดเป็นสรณะที่พึ่ง ที่ระลึกต่อไป
เมื่อได้อ่านบทความเช่นนี้แล้วคงจะรู้สึกห่อเหี่ยวหัวใจอยู่บ้างพอสมควร แล้วองค์กรและผู้สืบทอดพุทธศาสนาที่ทำหน้าที่อย่างแท้จริงไม่มีเลยหรือ ซึ่งก็มีแสงสว่างอยู่บ้างเมื่อได้เห็นบทความใน นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันเดียวกัน หน้า 28 คอลัมน์ HR& Management มีบทความเรื่องบริหารองค์กรชั้นยอด จัดการตามหลักพุทธวัจน์ ซึ่งเขียนโดย ทวีวัฒนา ทุนคุ้มทอง สรุปจากบทสัมภาษณ์พระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล เจ้าอาวาสวัดนป่าพง จ.อุบลราชธานี ได้สะท้อนให้เห็นถึงผู้สืบทอดพุทธศาสนาที่มีศักยภาพแห่งหนึ่ง ที่ได้อธิบายถึงหลักธรรมของผู้บริหารหรือผู้นำองค์กรมีอะไรบ้าง พอสรุปได้ดังนี้ ผู้บริหารจะต้องมีความยุติธรรม ไม่โง่ รู้จักพูด รู้จักสร้างความสามัคคี ตั้งอยู่ในทิศ 6 และสัปปุริสธรรม 7 ประการ ซึ่งก็เป็นหลักธรรมพื้นๆในนวโกวาท นักธรรมชั้นตรี
แม้นว่าหลักธรรมที่พระอาจารย์คึกฤทธิ์ยกมานั้นเป็นหลักธรรมพื้นฐาน หลายคนคงได้ฟังเทศน์และเรียนมาบ้างแล้ว แต่อาศรัยความสามารถของผู้เรียบเรียงให้เข้ากับหน้าหนังสือพิมพ์ จึงทำให้มีความรู้สึกว่าหลักธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นยาวิเศษแก้ปัญหาสังคมได้ทุกปัญหา นี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของเหตุผลที่จำเป็นต้องเร่งสร้างศักยภาพขององค์กรและผู้สืบทอดพุทธศาสนา เพราะไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นตัวปัญหาของสังคมไป และในที่สุดพุทธศาสนาก็เป็นเพียงสัญลักษณ์ไป
พระวัดนาป่าพงนอกจากจะทำหน้าที่ในวัดแล้วยังได้ออกไปนอกวัดรับรู้ปัญหาของสังคม ทั้งในรูปแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เช่นเดียวกับองค์ดะไล ลามะ ทำอยู่ทุกวันนี้ ลองเข้าไปในเว็บไซต์ยูทูปแล้วค้นหาคำว่า "หลวงปู่ชา วัดนาป่าพง" หรือภาษาอังกฤษคำว่า "Buddha" น้อยนักจะเห็นพระไทยเทศน์เป็นภาษาอังฤษ ส่วนใหญ่แล้วจะเห็นงค์ดะไล ลามะ และพระสาย "หลวงปู่ชา" นี้ก็เป็นตัวอย่างของการใช้สื่อที่ทันสมัยในการเผยแพร่ธรรมะ ซึ่งก็มีพระไทยหลายรูปหันมาใช้สื่อด้านนี้
หลายคนอาจจะได้รับข้อความอย่างเช่น "เขามีส่วนเลวบ้างชั่งหัวเขา จงเหลือเอาส่วนดีเขามีอยู่ เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู ส่วนที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย" หรือข้อความว่า อยู่อย่างต่ำ ทำอย่างสูง(พุทธทาสภิกขุ) ที่ส่ง SMS มาทางมือถือ ซึ่งเป็นโครงการที่ท่านจันทร์ทำร่วมกับคุณ ศิริ กลิ่นจันทร์ แม้นจะเป็นชาวมุสลิมก็ตาม ส่งข้อความเช่นนี้เตือนสติคนที่มีปัญหาอย่างเช่นคิดจะฆ่าตัวตาย และปัจจุบันนี้ก็มีแนวร่วมอย่าง อาจารย์สุรวงศ์ วัฒนกุล อาจารย์ศิวกานต์ ปทุมสูตร ไพวรินทร์ ขาวงาม และศักดิ์ศิริ มีสมสืบ มาร่วมในการผลิตเนื้อหาข้อความดีๆ และมีพระรุ่นใหม่หลายรูปที่ทำลักษณะเช่นนี้ แต่ดูเหมือนจะทำลักษณะปัจเจกพระไม่ได้ทำในรูปขององค์กร
แต่เมื่อเห็นภาพเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เห็นเข้าวัดน้อยลง แต่ไม่ได้หลายความว่าคนจะสนใจหลักธรรมน้อยลงไปด้วย เพราะทุกวันนี้ผู้ศึกษาธรรมะแทนที่จะเรียนตามใบลาน หนังสือธรรมะ แต่ปัจจุบันนี้เป็นยุคธรรโมโลยีพระต้องเทศน์สอนผ่านทางอินเตอร์เน็ตมือถือ ส่วนพระที่ยึดแบบแผนเดิมในที่สุดก็ตกยุคไปเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเปล่าหมายสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติการฝึกจิตคือการนั่งสมาธิเจริญภาวนาถึงจะสามารถขัดเกลาจิตใจคนได้ จะอาศรัยเพียงให้ทานรักษาศีล แต่ไม่เจริญภาวนาแล้วอาจจะเป็นคนงมงายได้ง่าย เพราะปัจจุบันนี้เด็กแนวเขาเข้าวัดปฏิบัติธรรมกันแล้วแทนที่จะไปวัดฟังเทศน์อย่างเดียว หากสนใจลองไปปฏิบัติดูตามสถานที่ต่างๆ ดังนี้
สถานที่ปฏิบัติธรรมในของประเทศไทย
วัดแม่ปาง ต.สันติคีรี อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน
วัดป่าพระอาจารย์มั่น (วัดร้างป่าแดง) บ้านแม่กอย ต.เวียง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
วัดอนาลโย อ.เมือง จ.พะเยา
วัดถ้ำดอยลาน ต.สามเงา อ.สามเงา จ.ตาก
วัดป่าน้ำโจน ต.ชาลีพัน อ.วังทอง จ.พิษณุโลก
วัดแพร่ธรรมาราม ต.เด่นชัย อ.เด่นชัย จ.แพร่
วัดป่ามหาชัย ต.บ้านเกาะ อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร
วัดปลักประดู่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
วัดไกลกังวล ต.บ้านเชี่ยน อ.หันคา จ.ชัยนาท
วัดธรรมมงคล 132 ถ.สุขุมวิท ซอย 101 ตรอกปุณณวิถี 20 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ
วัดปทุมวนารา แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
วัดป่าซับผักกูด ต.ห้วยไร่ อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ
วัดสนามพราหมณ์ อ.เมือง จ.เพชรบุรี
วัดหลวงตาบัวญาณสัมปันโน ต.สิงฆ์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
วัดสุนันทวนาราม ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
วัดป่าบุญญาวาส ต.บ่อทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี
วัดมาบจันทร์ ต.แกลง อ.เมือง จ.ระยอง
วัดเขาสุกิม ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี
วัดบางแก้วผดุงธรรม ต.ท่ามะเดื่อ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง
วัดบางเตย ต.บางเตย อ.เมือง จ.พังงา
วัดป่าสามัคคีธรรมาราม ต.บางเขียด อ.สิงหนคร จ.สงขลา
วัดพุทธนิมิตร (ภูค่าว) บ้านนาสีนวล ต.สหัสขันธ์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์
วัดอุดมมงคลคาคีรีเขต ต.บ้านโคก อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น
วัดพระธาตุมหาชัย บ้านมหาชัย ต.มหาชัย อ.เรณูนคร จ.นครพนม
วัดป่าสาละวัน ถนนสืบศิริ อ.เมือง จ.นครราชสีมา
วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ห้วยทราย อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร
วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม (พระมหาเจดีย์ชัยมงคล) ต.ผาน้ำย้อย อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด
วัดถ้ำผาปู่ บ้านนาอ้อ ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย
วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร
วัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) บ้านคำแคนพัฒนา ต.นาสะแง อ.ศรีวิไล จ.หนองคาย
วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
หากเป็นกรุงเทพฯและปริมณฑลขอแนะนำวัดมหาธาตุท่าพระจันทร์ และวัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม
(จากกรุงเทพธุรกิจ) เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Google