วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2552

พระพุทธศาสนาประจำชาติ:มองต่างมุมนักศาสนากับนักปรัชญา

แรกที่มีการเคลื่อนไหวให้มีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า"พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย" นั้นก็ได้เขียนความเห็นลงบล็อกพร้อมร่วมแสดงความร่วมกับบุคคลทั่วไป อย่างเช่นเรื่อง น้ำท่วมหลังเป็ดเขียนพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรธน. พอระยะเวลาผ่านไประยะหนึ่ง มีความรู้สึกว่าวางอุเบกขาดีกว่า เพราะหลวงพ่อหลวงพี่ที่ออกมาเคลื่อนไหวนั้น บางรูปก็เป็นอาจารย์ที่เคารพ บางรูปเป็นเพื่อนที่ร่วมสถาบันการศึกษา
หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ได้ติดตามการเคลื่อนไหวอย่างห่าง ๆ ทั้งข่าวและความเห็น แต่เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมาได้เห็นบทความ "พระพุทธศาสนาที่ไม่ผูกติดกับรัฐ (Buddhism without State)" ทางหนังสือพิมพ์มติชน ตอนแรกก็ไม่สนใจเท่าใดนักแต่พอทราบว่าผู้เขียนคือ "ชาญณรงค์ บุญหนุน" ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำให้สนใจที่จะอ่านในเนื้อหาของบทความมากยิ่งขึ้น
"ชาญณรงค์" ได้ยกเหตุการณ์และเหตุผลของฝ่ายที่ออกมาเคลื่อนไหวให้มีการการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า"พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย"
ตอนที่สำคัญอาทิ "ในแง่เอกสารวิชาการ ส่วนกระแสการเรียกร้องให้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยนั้นอาจศึกษาได้จากงานของนักปราชญ์ชาวพุทธคนสำคัญ โดยเฉพาะงานเขีนของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ความคิดของท่านนั้นมีอิทธิพลต่อชาวพุทธไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะต่อการศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ดูเหมือนว่าพระเดชพระคุณจะตระหนักถึงภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในของพระพุทธศาสนา และเห็นความสำคัญในการที่จะให้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย
เหตุผลสำคัญที่ท่านเรียกร้องให้มีการบัญญัติเช่นนั้น มิใช่ความเป็นศาสนนิยม แต่อยู่ที่เหตุผลที่ท่านมองสังคมไทยแตกต่างออกไปจากนักวิชาการด้านการเมืองการปกครองทั่วไป
ท่านมองว่าสังคมเป็นสังคมทาส ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง และด้านอื่นๆ ที่สำคัญคือทาสทางความคิดและทางปัญญา
ความเป็นทาสทางปัญญาทำให้นักการศึกษา นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และอื่นๆ ลอกเลียนแบบความคิดในเรื่องการพัฒนาสังคมจากประเทศตะวันตกอย่างไม่ลืมหูลืมตา ไม่ดูสาเหตุความเป็นมา ไม่ดูพื้นฐานทางวัฒนธรรมในการแบ่งแยกศาสนาออกจากรัฐ โดยเฉพาะยึดมั่นถือมั่นในวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่มุ่งเน้นรัฐฆราวาส (Secular state) ไม่สนใจศึกษาระบบศาสนาและจริยธรรมอันเคยเป็นพื้นฐานสำคัญของสังคมไทย มุ่งแต่จะทำตามแบบอย่างของชาวตะวันตก
เหตุผลนี้น่าสนใจเพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวความคิดทางสังคม การเมืองการปกครองที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ล้วนลอกเลียนแบบและได้รับอิทธิพลจากวิธีคิดแบบตะวันตกที่ต้องการแยกรัฐออกจากศาสนาทั้งสิ้น
ผู้เรียกร้องก็คงจะต้องทำความเข้าใจว่า โดยตรรกะ การแยกรัฐออกจากศาสนาที่นักวิชาการและนักกฎหมายจำนวนมากยึดถืออยู่นั้นเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับแบบแผน (Model) ของการปกครองในประชาธิปไตยอย่างที่จะปฏิเสธได้ยาก
เว้นเสียแต่ว่าเราจะมีแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยอีกแบบหนึ่งที่พัฒนาขึ้นมาเองในสังคมไทย ซึ่งในความจริง ระบอบการปกครองใดๆ ก็ใช่ว่าจะดีที่สุดสมบูรณ์ที่สุด
ดังนั้น การจะพัฒนาแนวคิดใหม่เกี่ยวกับประชาธิปไตยในสังคมไทยให้มีลักษณะของการเป็นประชาธิปไตยที่ไม่แยกออกจากศาสนา ก็อาจจะทำได้แต่ต้องมีการศึกษากันอย่างจริงจังว่าที่เป็นอยู่
สมมติฐานสำคัญอันหนึ่งที่ฝ่ายผู้เรียกร้องมีในใจก็คือ เราไม่จำเป็นต้องลอกเลียนแบบประชาธิปไตยของชาวตะวันตกมาทั้งดุ้นนั่นเอง
แต่ก็มีข้อสังเกตว่า ในการเรียกร้องที่ปรากฏขึ้นในการชุมนุมเรียกร้องของพระสงฆ์และฆราวาสชาวพุทธที่เห็นด้วยในเรื่องนี้ ไม่ค่อยชี้ให้เห็นแง่มุมที่เป็นเหตุผลดังกล่าวนี้อย่างชัดเจนนัก โดยส่วนมากแล้ว เราจะพบเหตุผลในเชิงประวัติศาสตร์ เหตุผลด้านความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย และเหตุผลเชิงประโยชน์นิยมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในสังคมไทยในอนาคต
ซึ่งทุกเหตุผลก็มีข้อบกพร่องที่สามารถโต้แย้งได้ทั้งสิ้นสำหรับผู้เขียนแล้วไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องที่จะให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย" ด้วยเหตุผลที่ต่างออกไปจากมุมมองของผู้คัดค้านหรือผู้มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ เวลาที่ประธานสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาคัดค้านนั้นมักจะอ้างว่าจะทำให้เกิดความบาดหมางแก่ศาสนาอื่นๆ หรือเกิดการกดขี่ศาสนาอื่นๆ
ซึ่งอันที่จริงคนที่กล่าวคำทักท้วงนี้ขึ้นมาก็ตระหนักดีว่า ถ้าพิจารณาจากประวัติศาสตร์ของไทย ก็เป็นไปได้น้อยมากที่ชาวพุทธในประเทศไทยจะกดขี่ศาสนาอื่น (แม้จะมีบ้างในบางยุคสมัย)
แต่เหตุผลที่แท้จริงไม่เคยถูกแสดงออกมานั่นคือ เหตุผลที่ว่านักวิชาการเหล่านั้นคิดถึงรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอีกแบบหนึ่ง ที่ถือว่ารัฐกับศาสนาจะต้องแยกกัน
ในอดีตนั้น พระพุทธศาสนาในประเทศไทยผูกติดกับรัฐและผู้ปกครองมาตลอด และไม่เคยเป็นผู้นำในระดับสังคมการเมืองการปกครอง ที่ทำให้สังคมสามารถปฏิรูปโครงสร้างสังคมได้อย่างถึงแก่น
ความอ่อนแอของพระพุทธศาสนาในปัจจุบันนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะผูกติดกับรัฐมากเกินไป และคิดว่าการยึดโยงอยู่กับรัฐคือคำตอบ รัฐนั้นมักจะเปลี่ยนแปลงตามผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเครือข่ายอิทธิพลอื่นๆ ที่มาพร้อมกับยุคสมัย
พระพุทธศาสนาในสังคมไทยปัจจุบันต้องเสียพื้นที่ให้กับภูมิปัญญาอื่นๆ ที่เข้มแข็งกว่าและเป็นประโยชน์ต่อรัฐมากกว่า เพราะว่าสังคมไทยปัจจุบันมีทางเลือกมากกว่าอดีต ไม่ว่าทางเลือกนั้นจะดีหรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยทางเลือกนั้นก็อาจจะตอบสนองความต้องการของรัฐได้ดีกว่า
การเรียกร้องให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย ย่อมมีพันธะผูกพันต่อชาวพุทธ มันหมายถึงความเป็นผู้นำในสังคมไทย ทั้งในระดับอุดมการณ์และภาคปฏิบัติ คำถามอยู่ที่ว่าชาวพุทธพร้อมที่จะไปสู่จุดนั้นอีกครั้งหรือไม่หลังจากสูญเสียบทบาทไปมาก
ถ้าพร้อม การเรียกร้องให้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก็นับว่ามีแง่มุมน่าสนใจ และน่าพิจารณาอย่างยิ่งแต่ผู้เขียนคิดว่า ศาสนาพุทธไม่ควรจะผูกติดกับรัฐใดรัฐหนึ่ง
การนำศาสนาพุทธซึ่งเป็นสากลกว่ามาผูกติดกับพื้นที่และชาติพันธุ์อันมีข้อจำกัดนั้น ไม่ตรงกับลักษณะสำคัญของพระพุทธศาสนาที่มุ่งประโยชน์สูงสุดของชาวโลก พระพุทธศาสนาควรจะอยู่เหนือรัฐทั้งในแง่อุดมการณ์และภาคปฏิบัติ
กล่าวคือ พระพุทธศาสนาน่าจะมุ่งความสุขของมนุษยชาติโดยไร้ขอบเขต สร้างความเป็นไทในด้านภูมิปัญญาจริยธรรมแก่มนุษย์ทุกรูปนามโดยไม่ต้องอาศัยรัฐเป็นเครื่องมือ เป็น Buddhism without state
ในแง่ปฏิบัติ โดยเฉพาะในทางสังคม ผู้เขียนคิดว่า พระพุทธศาสนาจะต้องใส่ใจสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยให้มากกว่านี้ มีปัญหามากมายในสังคมไทยที่ชาวพุทธเพิกเฉย และไม่ได้ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ต่อพระสัทธรรม เช่น สถาบันพุทธศาสนาในสังคมไทยไม่กล้าที่จะออกมาประณามการฆ่าที่เกิดขึ้นในสังคมไม่ว่ากรณีใดๆ ที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการ ไม่เคยเป็นผู้นำในการสร้างความเป็นธรรมในรูปแบบต่างๆ ในสังคมในสังคมไทยนั้นมีความเลวร้ายความไม่เป็นธรรมที่รัฐเป็นผู้กระทำจำนวนมาก แต่สถาบันพุทธศาสนาไม่พยายามรับรู้และแสดงบทบาทผู้นำในการปฏิรูปสังคม มักจะอ้างว่าพระสงฆ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่ควรยุ่งกับกิจของฆราวาส ทั้งที่กิจกรรมบางอย่างเป็นความชั่วร้ายของสังคม
อันที่จริง การเรียกร้องให้บัญญัติพระพุทธศาสนาไว้ในรัฐธรรมนูญในฐานะศาสนาประจำชาตินั้นมองในแง่หนึ่ง ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นการแสดงถึงเจตจำนงอันชัดเจนถึงความต้องการให้พุทธศาสนากลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมืองการปกครองของไทย
ซึ่งการจะเป็นที่พึ่งแก่สังคมและชาวโลกนั้นสามารถจะทำได้โดยไม่ต้องอิงอาศัยอำนาจรัฐ แต่ต้องอาศัยภูมิปัญญา ความเข้มแข็งสามัคคี และความกระตือรือร้นมากกว่าที่เป็นอยู่ และรัฐต้องให้พื้นที่อิสระในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนาอย่างเพียงพอการเรียกร้องให้มีการบัญญัติพุทธศาสนาไว้เป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญนั้น ผู้เรียกร้องจึงจำเป็นต้องไตร่ตรองให้มากขึ้นกว่าการอ้างอิงถึงความเป็นมา และความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในสังคมไทย ผู้เขียนคิดว่า เราน่าจะมีเหตุผลที่ดีได้ในการที่จะบัญญัติเช่นนั้น แต่เหตุผลที่ดีที่สุดนั้นยังไม่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันอนึ่ง สำหรับสังคมไทย รัฐธรรมนูญนั้นเป็นเพียงภาษาสมมุติชนิดหนึ่งที่ไม่แน่นอน ดังเราจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญมักจะถูกฉีกทิ้งและเขียนใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า
ชาวพุทธจะแน่ใจได้อย่างไรว่า สักวันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้อาจจะถูกฉีกและเขียนใหม่อีกในอนาคต
เมื่อถึงเวลานั้น กิจกรรมแบบซ้ำๆ เช่นนี้ก็จะปรากฏขึ้นอีก การยึดติดผูกพันกับสิ่งสมมุติเช่นนี้ ก็เป็นสิ่งที่ควรไตร่ตรองอย่างรอบคอบ"
นี้คือความเห็นของคนที่เรียนปรัชญา ไม่อยากจะตัดเนื้อหาให้เสียอรรถรส
ต่อไปนี้ลองศึกษามุมมองของนักศาสนาอย่างอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก สนช. เขียนบทความเรื่อง "ประโยชน์ที่พึงได้จากการเขียนพระพุทธศาสนาในรัฐธรรมนูญ" ในคอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 6 พ.ค.บ้าง
"ต้องกราบขออภัยท่านผู้อ่าน ผมเสมือน "คนพูดติดอ่าง" พูดเรื่องเดียวกันซ้ำซาก ขนาดเขียนลงในหนังสือพิมพ์ที่คุยว่ามียอดขายระดับต้นๆ ยังไม่ค่อยมีคนอ่านสักเท่าไหร่ ประเด็นที่ยกขึ้นมาชี้แจง ก็ยังได้เห็นได้ยินคนส่วนใหญ่ถามอยู่นั้นเอง
คำถามที่ฮิตที่สุดก็คือ "ใส่แล้วไม่กลัวจะเกิดการแตกแยกเกี่ยวกับพระศาสนาหรือ เพราะศาสนาในเมืองไทยมิใช่มีแต่พุทธศาสนา ทำไมต้องพุทธอย่างเดียว"
อีกคำถามหนึ่ง ก็คือ "พระสงฆ์ที่ออกมาร้องเรียนนั้น ทำไมไม่ไปจัดการพระที่ประพฤติผิด นอกรีตนอกรอยเสียก่อน มายุ่งเรื่องรัฐธรรมนูญทำไม ไม่ใช่กิจของสงฆ์"
อีกคำถามหนึ่ง "เอาศาสนาไปยุ่งกับการเมืองทำไม ต่างฝ่ายต่างอยู่ก็ดีแล้ว รัฐธรรมนูญประเทศไหนๆ (ที่เขาเป็นประชาธิปไตย) ก็ไม่เอาศาสนามายุ่งกับการเมือง" อะไรประมาณนี้
คำถามเหล่านี้ก็ยังคงถามกันต่อไป และคงตอบกันต่อไป คนถามไม่ควรมี "ธง" ในใจอยู่แล้วถาม ไม่ว่าใครจะตอบ หรืออธิบายอย่างไรๆ ถ้าไม่ตรงกับความคิดความเชื่อของตนก็ไม่รับฟัง คนตอบเองก็ไม่ควรคิดว่าคำตอบ หรือเหตุผลของตนนั้นถูกต้อง และก็ไม่ควรคาดหวังว่าเขาจะเชื่อตามที่ตนตอบ
ก็รวมถึงข้อคิดเห็นของผมทางหน้าหนังสือพิมพ์นี้ด้วยแหละ ไม่จำต้องเชื่อพุทธวจนะใน "เกสปุตติยสูตร" หรืออีกชื่อหนึ่ง "กาลามสูตร" เป็นหลักตัดสินว่า ก่อนจะเชื่อหรือไม่ควรเชื่อ จะพึงทำอย่างไรดี ดังที่พระเดชพระคุณเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ติงไว้นั้นแหละ เรื่องสำคัญอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องจะต้องพึ่งพา "ความรู้สึก" ไม่ใช่เรื่องที่จะเชื่อตามความรู้สึก ของคนที่มีสถานะทางสังคมสูง มี authority สูง หากเป็นเรื่องที่ต้องใช้ "ความรู้" ความเข้าใจมาตัดสินกันท่านติงว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่เอาความรู้สึกมาวัดกัน แม้แต่เรื่องสำคัญๆ เช่น พระพุทธศาสนาควรเขียนว่าเป็นศาสนาประจำชาติไทยหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ต้องอาศัยความรู้ ความรู้ประวัติศาสตร์ ของชาติ ของศาสนา รู้บทบาทของพระพุทธศาสนากับสังคมไทย รู้บทบาทและหน้าที่ของพระสงฆ์ต่อสังคมไทย และที่สำคัญรู้ภารกิจ หรือหน้าที่ที่รัฐจะพึงดูแลคุ้มครองพระพุทธศาสนาอย่างใดสรุปให้ชัดก็คือ ไม่พึงใช้ความรู้สึก ควรใช้ความรู้ความเข้าใจตัดสินผมพูดค้างไว้ในสัปดาห์ที่แล้วว่า จะจาระไนผลดีของการเขียนพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญต่อ (ไม่ใช่เขียนเพียงในคำปรารภว่า ศุภมัสดุ พระพุทธ ศาสนายุกาล..ฮิฮิ)ทีแรกว่าจะแจงเป็นข้อๆ ดังที่ทำมาในฉบับที่แล้ว เปลี่ยนใจมาพูดในแง่อธิบายตามวิธีการเขียนบทความแทนก็แล้วกัน เมื่ออ้างวาทะอัน "กินใจ" ของหลวงพ่อประยุทธ์ ปยุตฺโต แล้วก็ขออ้างต่อไปในกรณีศาสนาประจำชาติ จำต้องทำความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาคือ(1) หลักการของแต่ละศาสนาไม่เหมือนกัน(2) ประเพณีความสัมพันธ์ไม่เหมือนกันขอยกตัวอย่างความสัมพันธ์ในประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นรูปธรรมและชัดเจนกรณีศาสนาคริสต์ ทำไมฝรั่งต้องแยกศาสนาออกจากรัฐ เขามีความหลังอันยาวไกล ตั้งแต่ยุโรปสมัยกลาง อำนาจทั้งหมดอยู่ภายใต้ศาสนจักรคาทอลิก ซึ่งมีสันตะปาปาเป็นประมุข เมื่ออำนาจมีมากการคอร์รัปชั่นก็ตามมา นี่คือความเป็นจริงในทุกสังคม ความเสื่อมเกิดขึ้นในศาสนจักร เสื่อมถึงขนาดมีการขายใบไถ่บาปกันขึ้น จึงเกิดบาทหลวงเยอรมัน (มาร์ติน ลูเธอร์) คัดค้านไม่เห็นด้วย เมื่อมีคนนำคัดค้านอำนาจอันสิทธิขาดนี้ รัฐต่างๆ ที่เคยยินยอมก็หันมาสนับสนุนลูเธอร์ เพราะตนเองก็ต้องการความเป็นอิสระจากโป๊ป กระบวนการคัดค้านนี้จึงได้ชื่อว่า "Protestant"ในช่วงเวลาดังกล่าว ที่ประเทศอังกฤษ พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ซึ่งไม่เห็นด้วยกับศาสนจักร ด้วยจุดประสงค์ส่วนตัวคือต้องการเปลี่ยนพระมเหสี จึงแยกตัวจากศาสนจักร ถือโอกาสตั้ง Church of England ขึ้น สถาปนาพระองค์เองเป็นประมุขศาสนาสิ้นพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 พระนางแมรีซึ่งนับถือคาทอลิกเคร่งครัด ขึ้นครองราชย์ ก็กวาดล้างพวกที่ต่อต้านทั้งหมดเป็นการใหญ่ พวกนี้ถูกฆ่า บ้างถูกเผาทั้งเป็นจำนวนมาก จึงต้องหลบหนีออกต่างประเทศ กลุ่มหนึ่งหนีไปฮอนลอนด์ อีกกลุ่มหนึ่งลงเรือไปขึ้นที่"นิวอิงแลนด์" (ในปี ค.ศ.1620) พวกนี้มีปมในใจที่ถูกเบียดเบียนทางศาสนา จึงต้องหนีภัยทางศาสนามาหาอิสรภาพ (freedom) ซึ่งเป็นแกนสำคัญในการก่อตั้งประเทศอเมริกาดูภูมิหลังทางประวัติศาสตร์อย่างนี้ จึงพอมองเห็นใช่ไหมครับว่า ทำไมฝรั่ง (โดยเฉพาะอเมริกา) จึงรังเกียจที่จะให้ศาสนามาเกี่ยวข้องกับการปกครองประเทศจึงแยกรัฐออกจากศาสนา (Separation of Church and State) จึงมีกฎหมาย ห้ามสอนศาสนาในระบบโรงเรียน เมื่อไม่เอาศาสนา อันเป็นรากฐานของศีลธรรมจริยธรรมมาเป็นหลักในการพัฒนาประเทศ ก็ต้องคิดค้น "จริยธรรม" ขึ้นมาใหม่ อันเรียกว่า "จริยธรรมสากล"ซึ่งไม่เกี่ยวกับการหล่อหลอมพฤติกรรมของมนุษย์แต่อย่างใด เป็นเพียงทฤษฎีว่าด้วยความดี ความชั่ว มาตรฐานตัดสินดีชั่วพูดให้ชัดว่าเป็นแค่ทฤษฎีอย่างหนึ่งเท่านั้นเองสังคมที่ปฏิเสธศีลธรรมจริยธรรมทางศาสนา จึงไม่สามารถสร้างความดีงามขึ้นมาได้ จึงเต็มไปด้วยปัญหาสารพัดดังที่ทราบกัน แล้วเราก็ยังเป็นปลื้มชื่นชม และเอามาเป็นแบบอย่างทีนี้มาดูลักษณะความสัมพันธ์ของศาสนากับรัฐในแบบของพระพุทธศาสนาบ้าง มันเป็นแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศตะวันตกหรือเปล่าไม่ว่าใช้สมองซีกไหนไตร่ตรองก็ตอบได้ทันทีว่า ไม่เหมือนครับ เวลาพระบวชเข้ามา ท่านต้องสละบ้านเรือน สละอาชีพที่ทำอยู่ รวมถึงสละกิจการทางบ้านเมืองทุกอย่าง กฎหมายบ้านเมืองยังได้นำประเพณีนี้มาบัญญัติไว้ โดยเขียนว่า นักบวช นักพรตไม่มีสิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้ง (ความคลุมเครือของการนิยามคำ มีผลกระทบถึงแม่ชีไป เพราะไปนิยามว่าแม่ชีคือนักบวชนักพรต ไม่มีสิทธิเลือกตั้งด้วย แล้วก็ไม่มีการแก้ไข สิทธิทางการเมืองของสตรีไม่ต่ำกว่าสองแสนคนถูกตัดสิทธิอย่างน่าเสียดาย)โดยโครงสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระศาสนา พระสงฆ์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองการปกครองโดยตรงอยู่แล้ว ท่านบวชมาศึกษา ปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติได้ผลมากน้อยตามความสามารถแล้ว ก็เผยแผ่พระธรรม สั่งสอนประชาชน นั้นคือหน้าที่หลักของพระสงฆ์ ดังที่ตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า "พระสงฆ์จะต้องศึกษา-ปฏิบัติสัมผัสผล-เผยแผ่-แก้ปัญหา"ฝ่ายรัฐ (สมัยราชาธิปไตย) ก็มีหน้าที่ในการ (1) "ปกครองประเทศ" ให้เจริญรุ่งเรือง ร่มเย็นเป็นสุข โดยอาศัยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการปกครองประเทศ (โดยเฉพาะทศพิธราชธรรม) (2) อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา รวมถึงช่วยศาสนจักรแก้ปัญหาใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นอันเกินความสามารถของพระสงฆ์จะจัดการได้เหตุการณ์พระสงฆ์ผู้ใหญ่ต้องปาราชิกกระทบกระเทือนสังคมยุคนั้น พระสงฆ์ไม่สามารถจัดการได้ ทางอาณาจักรโดยพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงโปรดให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ และหม่อมไกรสร ซึ่งพระองค์แรกเป็นผู้ดูแลกรมสังฆการีด้วย ช่วยชำระสะสางให้เรียบร้อยหรือย้อนไปสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช การพระศาสนาเสื่อมโทรมมาก ถึงขนาดพระสงฆ์ตั้งก๊กมีจุดมุ่งหมายทางการเมือง ก็ทรงยื่นมือเข้ามาช่วย ปราบก๊กเจ้าพระฝางลงแล้ว ยังส่งพระสงฆ์จากส่วนกลางไปฟื้นฟูพระศาสนา หรือย้อนขึ้นไปถึงสมัยอยุธยา สมัยพระนารายณ์มหาราช เกิดกรณีพระเพทราชากับพระเจ้าเสือ นำกองทัพล้อมวัง พระองค์ทรงเป็นห่วงข้าราชบริพารที่จงรักภักดีจะเป็นอันตราย จึงให้นิมนต์พระสงฆ์เข้ามาอุปสมบทแก่เหล่าอำมาตย์และข้าราชบริพารในพระราชวัง เมื่อบวชเป็นพระแล้ว ก็ตัดขาดจากทางบ้านเมืองไป ได้รับความคุ้มครอง อำนาจรัฐก็ไม่สามารถเอื้อมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระพุทธศาสนา มิได้เหมือนประเทศใดๆ ถ้าจะเรียกว่าเป็น separation of Church and State ก็เป็นความสัมพันธ์แบบ positive Separation มากกว่า negative Separation คือไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างพระศาสนากับรัฐ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนสอดประสานสัมพันธ์กัน เพื่อความมั่นคงของรัฐ และความเจริญรุ่งเรืองของพระศาสนาความสัมพันธ์แบบนี้พระพุทธองค์ตรัสเรียกว่า "อัญโญญนิสสิตา" (รัฐและพระศาสนาพึงอาศัยกันและกันตามหน้าที่ของตน) ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแทรกแซงอีกฝ่ายหนึ่งเพราะความเข้าใจลึกซึ้งอย่างนี้ พระมหากษัตริย์ในอดีตทุกพระองค์ จึงทรงประกาศพระปฐมบรมราชโองการก่อนขึ้นครองราชย์ เช่นรัชกาลที่ 1 ทรงประกาศว่าตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนาป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนและมนตรีบรรทัดแรกตรัสถึงการอุปภัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา อันเป็นหน้าที่หลักของพระมหากษัตริย์อย่างหนึ่ง (ที่คณะผู้ก่อการถ่ายโอนมาด้วยอำนาจปฏิวัติ แล้วแกล้งทำตกหล่นในรัฐธรรมนูญ)บรรทัดสองตรัสถึงหน้าที่หลักอีกประการหนึ่งคือ การปกครองประเทศชาติและประชาชน ใคร่กราบเรียนว่า ท่านที่กลัวว่าใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว จะทำให้พระสงฆ์ยุ่งกับการเมือง ศาสนาไม่ควรมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง เมื่อได้ทราบว่า ด้วยประเพณีความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและพระศาสนาของสังคมไทยตั้งแต่ต้น คงสบายใจได้ พระศาสนาและพระสงฆ์ไม่มีทางยุ่งเกี่ยวกับการเมือง (ในความหมายของท่าน) แน่นอน เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน ต่างคนต่างทำหน้าที่สอดประสานกัน เพื่อเป้าหมายคือความเจริญรุ่งเรืองแห่งชาติและพระศาสนา"
อย่างไรก็ตามหนังสือพิมพ์มติชนฉบันวันที่ 7 พ.ค.ได้มีการตีพิมพ์สารจากพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม มีข้อความสรุปว่า "พระเลขานุการพระพรหมคุณาภรณ์ชี้แจงถึงความเห็นของพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) ที่มีผู้อ้างว่าเห็นด้วยกับการระบุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาตินั้น แท้ที่จริงแล้ว พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ไม่ได้ระบุอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ได้ให้ความเห็นอย่างเป็นกลาง
"ที่ทำมาตลอด คือได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นหนังสือที่ชื่อ"ความสำคัญของพระพุทธศาสนา ในฐานะศาสนาประจำชาติ" โดยได้อธิบายถึงเหตุผลที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จนศาสนาพุทธกลายมาเป็นศาสนาประจำชาติว่า เป็นเพราะ ทั้งในทางประวัติศาสตร์ ในด้านวัฒนาธรรม"
และตอนท้ายของสาร ได้ระบุว่า "การประพฤติปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนานั้น เป็นการดำเนินในแนวทางของความเป็นอิสระและเพื่อความเป็นอิสระในทุกขั้นตอน จะเห็นได้ว่า ศรัทธาจะต้องมีปัญญาควบคุมและจะต้องนำไปสู่ปัญญา เพราะปัญญา ทำให้พึ่งตนเองได้เป็นอิสระ
ทุกคนจะต้องทำตนให้พึ่งตนได้ตามหลักที่ว่า "ตนแลเป็นที่พึ่งของตน" พุทธพจน์บทหนึ่งแสดงคติของพระพุทธศาสนาว่า สพฺพํ ปรวสํ ทุกฺขํ สพฺพํ อิสฺสริยํ สุขํ" แปลว่า "การอยู่ใต้อำนาจคนอื่นเป็นทุกข์ทั้งสิ้น อิสรภาพเป็นสุขทั้งสิ้น"
เป็นอย่างไรบ้างครับสำหรับมุมมองระหว่างนักเรียนปรัชญาและนักศาสนาต่างก็มีเหตุผลวิญญูชนพิจารณาเอาเองเถิด สำหรับมหาเนชั่นขอวางอุเบกขาเพราะบุคคลควรที่กล่าวนามมาข้างต้นนี้ก็อย่างที่กล่าวบางรูปก็เป็นอาจารย์ที่เคารพ บางรูปเป็นเพื่อนที่ร่วมสถาบันการศึกษา
แต่สำหรับ "ชาญณรงค์ บุญหนุน" นั้นคือเพื่อนที่เรียนปริญญาตรีพุทธศาสตรบัณฑิตรี เอกปรัชญา ที่มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ด้วยกัน หลังจากเรียนจบเพื่อนบางรูป/คนก็ไปศึกษาต่อที่ประเทศอินเดีย สำหรับ "ชาญณรงค์" นั้นได้ศึกษาต่อที่จุฬาลงกร์มหาวิทยาลัย จนจบปริญญาเอก ส่วนมหาเนชั่นความสามารถไม่ถึง จึงได้มานั่งเขียนบล็อกนี้หละครับ แต่สิ่งหนึ่งที่เรามีก็คือมุมมองที่เหมือนกันในเรื่องนี้

วันอาทิตย์ ที่ 6 พฤษภาคม 2550

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Google