วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2552

ค้นเรื่องราว เพลงธรรมะสาระบนความบันเทิง

อ๊ะ...อ๊ะ เห็นหัวเรื่องแล้วอย่าเพิ่งส่ายหน้า เตรียมปิดหนังสือพิมพ์เสียล่ะ โดยเฉพาะวัยรุ่นหนุ่ม-สาว ก็แหม...จะไม่ให้ทักก่อนได้ยังไง ในเมื่อรู้อยู่แก่ใจว่า หลายคนพอได้ยิน ได้ฟังเรื่องเกี่ยวกับธรรมะทีไรเป็นอันต้องง่วง หงาว หาว นอน แทบทุกรายไป
แล้วถ้าใครสงสัยว่า เปิดผิดหน้าหรือเปล่า ไม่...ถูกแล้ว นี่คือ "หน้าดนตรี" เหมือนเดิม แต่เพราะวันนี้ "มิวสิค สเปเชี่ยล" กำลังจะนำเรื่องบทเพลงที่นำเสนอเกี่ยวกับธรรมะมาถกให้ฟัง ซึ่งต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า "เพลงธรรมะ" เท่าที่สำรวจพบว่า เพลงธรรมะในขณะนี้ แบ่งออกเป็นรูปแบบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพลงธรรมะที่แต่งใหม่ขึ้นโดยมีเนื้อหาเป็นเรื่องเล่าถึงบาปบุญคุณโทษต่างๆ เพลงเนื้อหาธรรมะที่ใช้ทำนองเพลงฮิตที่ได้รับความนิยมทางโลก เพลงธรรมะที่ปรับมาจากเสียงธรรมเทศนาของพระที่มีชื่อเสียง เพลงธรรมะที่ทำขึ้นผ่านคำกล่าวร่างทรงเทพเจ้าองค์ต่างๆ รวมไปถึงเพลงธรรมะที่หยิบเอาบทสวดมนต์มาใส่ทำนองที่ถือว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากอยู่ในขณะนี้
นอกจากแบ่งออกเป็นหลายรูปแบบแล้ว ยังมีผู้ผลิตหลากหลาย ทั้งในรูปธุรกิจมีบริษัทผลิตผลงานเป็นเรื่องเป็นราว วัดผลิตเอง รวมไปถึงจัดทำโดยคณะบุคคลที่เลื่อมใสศาสนา และกลุ่มบุคคลในองค์กรธรรมที่มีอยู่ทั่วไป
ท่านเจ้าคุณพระราชวิจิตรปฏิภาณ (เจ้าคุณพิพิธ) วัดสุทัศนเทพวราราม ให้ความรู้ถึงที่มา "เพลงธรรมะ" ว่า เกิดมาจากท่วงทำนองสวดคำฉันท์บาลี ซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าทรงตรัสใน 2 ลักษณะ คือ ร้อยแก้ว และร้อยกรอง หากอะไรที่เป็นส่วนสำคัญท่านจะจัดไว้ให้เป็นร้อยกรอง มีทำนองประจำคำฉันท์นั้นๆ ดังเช่นในปัจจุบันการสวดทำนองสรภัญญะก็ถือเป็นการถอดคำฉันท์ในสมัยก่อนมา
"แต่ละฉันท์สามารถใส่ได้หลายภาษา เช่น ประวัติพระเวสสันดรในอดีตกาลเพื่อจะให้ท่องจำให้ได้ จึงมีการนำทำนองไปใส่ให้จำได้ง่ายขึ้น ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนเรื่องราวเดิมให้เป็นภาษาพูด ซึ่งหากถามว่า เพลงธรรมะที่ยาวที่สุดนั้นคือเพลงอะไร ก็คือ เพลงพระเวสสันดร นี้เอง
หลังจากนั้นเมื่อความนิยมเกิดขึ้น จึงมีการนำเรื่องราวในชาดกพระพุทธเจ้ามาแต่งเป็นกลอน แหล่ โดยเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา เช่น เพลงแหล่ของพระพรภิรมย์ ต่อมาจึงมีการพัฒนา หยิบสาระธรรมต่างๆ มาสอนเป็นเพลงด้วย ซึ่งเพลงธรรมะส่วนใหญ่มักทำขึ้นโดยพระนักเทศน์ที่สึกออกไปแล้ว เพราะคนเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญเรื่องธรรม"
เจ้าคุณพิพิธ กล่าวถึงการที่มีการนำบทสวดมนต์ไปใส่เป็นทำนองเพลง ซึ่งถือว่าได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้ว่า ทำได้ หากแต่อย่าให้เสียลีลา อารมณ์ของธรรมะ กล่าวคือ ไม่เร็วเกินไปจนอารมณ์คนฟังกระเจิง และไม่ช้าจนเหนื่อยหน่าย เบื่อ ไม่อยากฟัง
"การนำบทสวดมนต์ไปใส่ทำนอง เริ่มมาเมื่อ 14-15 ปีก่อน ทำขึ้นครั้งแรกโดยชาวอินเดีย ต่อมาคนไทยเห็นว่า ฟังแล้วรู้สึกนิ่งดี จึงอยากทำบ้าง ซึ่งก็น่าสรรเสริญ เพราะหนึ่งจะทำให้เกิดความสุขเมื่อได้ฟัง สองจำง่ายในการท่อง และสามทำให้เกิดพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ ไม่เกิดกิเลส"
ด้าน นันทนา สวัสดิ์ธนากุล รองประธานกรรมการ บริษัท เอพีเอส อินเตอร์มิวสิค จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเพลงธรรมะ กล่าวว่า บริษัทซื้อลิขสิทธิ์เพลงธรรมะจากประเทศจีน รวมถึงผลิตเพลงประเภทนี้จำหน่ายเองอยู่หลายสิบชุด มายาวนานถึง 10 ปี โดยตลาดเพลงประเภทนี้ถือว่าใหญ่พอสมควร
"ตลาดเพลงธรรมะเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ เพลงบทสวดมนต์เจ้าแม่กวนอิมฉบับทิเบตที่ขายคู่กับเพลงบทสวดที่เราได้นำมาแปลเป็นภาษาไทย ซึ่งต่อเดือนเราสามารถขายเพลงธรรมะเหล่านี้ได้หลายหมื่นแผ่น โดยกลุ่มผู้ซื้อจะอยู่ในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป
การได้ฟังเพลงเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องดี ทำให้ได้เรียนรู้ว่า กฎแห่งกรรมมีจริง ฟังแล้วทำให้มีธรรมะมาอยู่ในหัวใจ มีคุณธรรม ดังเช่นตัวดิฉันเองเริ่มต้นก็ได้ฟังก่อนแล้วรู้สึกซาบซึ้ง จึงคิดทำออกมาขาย
แม่ค้าแผงเทปรายหนึ่ง ย่านบางกระปิ ให้ข้อมูลว่า เพลงธรรมะที่ตอนนี้ได้รับการถามถึง และได้รับความสนใจ จะเป็นเพลงที่นำบทสวดมาทำ โดยเฉพาะเพลงบทสวดของเจ้าแม่กวนอิม เพลงบทสวดชินบัญชร แต่ที่ถูกถามตอนนี้เพิ่มมาก็จะมีเพลงบทสวดพาหุง และบทสวดภาษาทิเบตอื่นๆ อีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กันก็คือ วีซีดีการ์ตูนพื้นบ้าน นิทานที่มีคติสอนใจ การ์ตูนสอนธรรมโดยผู้ปกครองมักนิยมซื้อไปให้บุตรหลานไว้ดู ซึ่งคิดว่า วีซีดีเหล่านี้ก็มีประโยชน์ สนุก และเข้าใจง่าย
ปิยะวรรณ สมบูรณ์ดี วัย 30 ปี หนึ่งในผู้ที่เคยฟังเพลงธรรมะ แสดงทัศนะว่า เพลงธรรมะน่าจะมีรากเหง้ามาจากเพลงลูกทุ่ง และเพลงแหล่ในครั้งอดีต โดยเพลงธรรมะที่เคยฟังเป็นเพลงของเสถียรธรรมสถาน ซึ่งเมื่อได้ฟังแล้วก็ให้ความรู้สึกผ่อนคลายได้อย่างดี ส่วนเรื่องการนำบทสวดมาทำเป็นเพลงนั้น ส่วนตัวนั้นคิดว่า เป็นเรื่องที่ส่งผลดีมากกว่าผลเสีย
"การนำบทสวดมาทำเป็นเพลง น่าจะมีผลดีมากกว่าเสีย เพราะจะทำให้คนใกล้ชิดศาสนามากขึ้น แม้ว่าบทสวดของศาสนาพุทธจะยังไม่มากและไม่คุ้นชินเท่ากับบทสวดของจีนที่เรามักจะได้ยินบ่อยมากกว่า โดยเฉพาะในย่านเยาวราช ที่บอกว่า ดีมากกว่าเสีย ก็เหมือนกับที่พระนักเทศน์รุ่นใหม่เคยกล่าวไว้ว่า หากให้คนไปนั่งฟังพระเทศน์แบบเดิมก็คงจะหลับได้ง่าย ทำให้พระต้องมีการปรับตัวเข้ากับยุคสมัย ซึ่งการเทศน์แบบใหม่อาจจะมีมุกตลก แต่สิ่งที่ได้คือการทำให้คนเข้าถึงหลักศาสนา และซึมซับไปอย่างไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับเพลงบทสวด ดิฉันคิดว่า ถ้าผู้ทำมีเจตนารมย์ที่ดีก็ทำได้ เพราะหากเราปล่อยให้เรื่องของศาสนาเป็นเรื่องไกลตัวต่อไป คนกับวัดก็จะยิ่งห่างกันไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้หนังสือธรรมะก็เช่นกัน ยังมีการปรับให้เข้าใจง่าย เน้นประยุกต์เข้ากับชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น"
ท้ายที่สุดไม่ว่าจะมีการนำคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือศาสดาองค์ใดไปทำในรูปแบบที่แตกต่างจากอดีตกาลอย่างไร หากไม่ทำให้ผิดเพี้ยน และตั้งอยู่บนเจตนาที่ดี บริสุทธิ์แล้ว เชื่อว่า ล้วนแต่เป็นการค้ำชูทุกศาสนาให้เจริญรุงเรืองยิ่งขึ้นไป
บายไลน์ สิริรัตน์ แซ่เบ๊
ที่มา - http://www.komchadluek.net/
หมายเหตุ - ต้องการจะฟังเพลงธรรมะก็เข้าไปที่ http://www.google.co.th/ แล้วพิมพ์คำว่า เพลงธรรมะ แล้วโหลตฟัง เพราะหากจะนำมาแสดงที่นี่เกรงจะผิดกฎหมายลิขสิทธิ์

วันเสาร์ ที่ 10 มีนาคม 2550

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Google